“จักรพงษ์” ร่วมซัมมิตกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขยายสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา

19 ม.ค. 2567 | 00:42 น.

รมช.กต. เดินทางถึงยูกันดา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค.นี้ พร้อมเยือนแอฟริกาใต้ ขยายสัมพันธ์ทวิภาคี และผลักดันความร่วมมือด้านการค้า- การลงทุน-การท่องเที่ยว

 

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงประเทศยูกันดา แล้ววานนี้ (18 ม.ค.) เพื่อเข้าร่วม การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ครั้งที่ 19 ณ กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม หลังจากนั้น จะนำคณะเยือนสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2567

การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดครั้งนี้ นายจักรพงษ์เข้าร่วมในฐานะผู้แทนพิเศษ (special envoy) ของนายกรัฐมนตรี นอกจากจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับรัฐสมาชิก NAM โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยในหัวข้อ Deepening Cooperation for Shared Global Affluence และมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ ซี่งจะเป็นโอกาสสำหรับไทยในการรณรงค์การลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยเป็นสมาชิก Human Rights Council วาระปี ค.ศ. 2025-2027 ด้วย

รมช.กต. เดินทางถึงยูกันดา เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ 19 มี รมช.กระทรวงกิจการเยาวชนและเด็กยูกันดา และเอกอัครราชทูตยูกันดาประจำสหรัฐฯ ให้การต้อนรับ

“จักรพงษ์” ร่วมซัมมิตกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขยายสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา

ทั้งนี้ NAM ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 ในยุคสงครามเย็นที่ประเทศในเอเชียและแอฟริกาหลายประเทศยังคงเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ ปัจจุบัน NAM ซึ่งมีสมาชิก 120 ประเทศ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค รวมถึงการทบทวนบทบาทและกำหนดทิศทางของ NAM ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติโลกในปัจจุบัน

โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูปสหประชาชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การก่อการร้าย การลดอาวุธ ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) ซึ่งหมายถึง กรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศซีกโลกใต้หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เยือนแอฟริกาใต้ ขยายความสัมพันธ์ทวิภาคี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังมีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งรักษาสถานะในการเป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในภูมิภาคแอฟริกาและไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในอาเซียน

ในการเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะพบหารือกับนาย Alvin Botes รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของแอฟริกาใต้ด้วย