สงครามอิสราเอล-ฮามาสขยายวง ชาติตะวันตกวิ่งวุ่นตั้งโต๊ะเจรจาหยุดยิง

08 ม.ค. 2567 | 08:28 น.

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ดำเนินมากว่า 3เดือนนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ลุกลามออกไปนอกพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายหวั่นวิตก ทำให้นักการทูตระดับสูงทั้งจากสหรัฐและยุโรป ต่างเคลื่อนไหว ด้วยความมุ่งหวังที่จะควบคุมไม่ให้สงครามครั้งนี้ ขยายวงกว้างออกไป

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลชาติตะวันตก ได้เคลื่อนไหวทางการทูต เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้ สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ลุกลามไปยังเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นถิ่นฐานภายใต้ปกครองของชาวปาเลสไตน์อีกแห่งหนึ่งนอกเขตฉนวนกาซา ขณะที่ประเทศเลบานอนก็ขู่ฟ่อพร้อมทำสงครามกับอิสราเอลเพื่อช่วยพี่น้องชาวปาเลสไตน์ และพื้นที่เดินเรือในทะเลแดงก็ยังคงตกอยู่ภายใต้การจู่โจมของกลุ่มติดอาวุธฮูตีในเยเมน

โดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) มอบหมายให้นายโจเซพ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง เดินทางเยือนตะวันออกกลาง เป้าหมายก็เพื่อควบคุมไม่ให้สงครามครั้งนี้ ลุกลามจนเกินการควบคุมและยากจะหาจุดยุติ

คณะของนายบลิงเคนได้เข้าพบกับกษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองแห่งจอร์แดน และชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 ม.ค.) เพื่อพูดถึงความจำเป็นที่อิสราเอลจะต้องลดจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพลเรือน รวมทั้งการเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเขตฉนวนกาซาซึ่งเป็นสมรภูมิรบหลักในเวลานี้

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนตะวันออกกลาง

นายบลิงเคนเดินทางเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้ว นับตั้งแต่ที่สงครามอิสราเอล-ฮามาสได้เริ่มประทุขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้ นายบลิงเคนในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ยังมีกำหนดการเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล เขตเวสต์แบงก์ และอียิปต์ด้วย

ด้านสำนักพระราชวังของจอร์แดน ระบุว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ได้กล่าวเตือนถึงผลสะท้อนกลับอย่างใหญ่หลวงจากเหตุการณ์สงครามในกาซา และกดดันให้สหรัฐแสดงบทบาทเรียกร้องให้เกิดการหยุดยิง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า การหยุดยิงชั่วคราว จะส่งผลดีต่อกลุ่มฮามาสมากกว่าที่จะนำไปสู่สันติภาพ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มติดอาวุธฮามาสตั้งตัวได้ แล้วกลับมาต่อสู้กับอิสราเอลอีกครั้ง

นอกจากภารกิจหาทางตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อการหยุดยิงแล้ว นายบลิงเคนยังพยายามเพิ่มความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเขาเดินทางไปกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน เพื่อเยี่ยมเยือนโกดังของโครงการ World Food Program ซึ่งเป็นจุดที่นำปัจจัยความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมาจัดเก็บไว้ ก่อนส่งไปที่ฉนวนกาซา

นายบลิงเคนยังพยายามเพิ่มความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

“เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาสถานการณ์สำหรับประชาชนทั้งชาย หญิง และเด็กในกาซา” รมว.ต่างประเทศสหรัฐยังกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ม.ค.) ว่า ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน ผู้นำตุรกีแล้ว เพื่อขอให้ตุรกีใช้อิทธิพลที่มีกับประเทศสำคัญ ๆ ในตะวันออกกลาง เพื่อควบคุมผลกระทบและความรุนแรงของสงครามในกาซา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี ยังได้มีการพบปะกับนายบลิงเคนในอีกการประชุม เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันที โดยแหล่งข่าวทางการทูตของตุรกีเปิดเผยว่า นายฟิดานได้เรียกร้องให้เริ่มการเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ตามแนวทางสองรัฐโดยทันที

ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนสำหรับอิสราเอลและปาเลสไตน์ และสนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์มีสิทธิทางการเมือง ซึ่งหมายความว่า การทำให้เกิด “รัฐปาเลสไตน์” พร้อมๆ กับการรับประกันว่า ฝ่ายอิสราเอลก็จะต้องมีความมั่นคงปลอดภัยด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้จะมีความกังวลจากนานาประเทศ แต่ความเห็นของชาวอิสราเอลนั้น พวกเขายังคงสนับสนุนการกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งสวนทางกับความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮู ที่ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมีอิสราเอลอย่างไม่คาดฝันเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

สงครามอิสราเอล-ฮามาสขยายวง ชาติตะวันตกวิ่งวุ่นตั้งโต๊ะเจรจาหยุดยิง

ท่าทีของเขาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอิสเราเอลครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) เนทันยาฮูกล่าวย้ำ จุดยืนของอิสราเอล ว่า สงครามครั้งนี้จะต้องไม่ยุติลง จนกว่าอิสราเอลจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมด นั่นคือ

  • การทำลายล้างฮามาส
  • การนำตัวประกันทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย
  • และการรับประกันว่า ฉนวนกาซาจะไม่เป็นภัยคุกคามสำหรับอิสราเอลอีกต่อไป

“ผมพูดย้ำสิ่งนี้ ทั้งกับศัตรูและมิตรของเรา” นายเนทันยาฮูระบุ

สถานการณ์ล่าสุดที่น่าหวั่นใจ

นอกจากท่าทีที่ย้ำการเดินหน้าโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาของผู้นำอิสราเอลแล้ว สถานการณ์ที่ลุกลามขยายวงระหว่างอิสราเอลและเลบานอน ยังเป็นสิ่งตอกย้ำว่านานาประเทศควรต้องเร่งมือทำทุกวิถีทางเพื่อยุติสงครามครั้งนี้ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ม.ค.) กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลลาห์ในเลบานอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านได้ยิงจรวดหลายสิบลูกใส่พื้นที่ตอนเหนือของอิสราเอล ส่งผลให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอนซึ่งมีพรมแดนติดกัน

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายบลิงเคนกล่าวว่า หากเหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น เลบานอนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเช่นกัน

ด้านนายโจเซพ บอร์เรล ซึ่งเป็นตัวแทนจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่เดินทางเยือนตะวันออกกลาง ได้แถลงข่าวระหว่างเยือนเลบานอนเมื่อวันเสาร์ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดขอบเขต ไม่ให้สงครามขยายออกไปในตะวันออกกลาง และเตือนอิสราเอลว่า “จะไม่มีใครชนะจากความขัดแย้งระดับภูมิภาค”

นายบอร์เรลเป็นผู้แทนจากสหภาพยุโรปเดินทางไปเยือนเลบานอน เพื่อหารือกับนายนาจิบ มิคาตี นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเลบานอน ในประเด็นเกี่ยวกับกาซา ผลกระทบของสงคราม และสถานการณ์บริเวณพื้นที่อิสราเอล-เลบานอน

สงครามอิสราเอล-ฮามาสขยายวง ชาติตะวันตกวิ่งวุ่นตั้งโต๊ะเจรจาหยุดยิง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดฉากกวาดล้างกลุ่มฮามาส เพื่อตอบโต้การโจมตีเมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่คร่าชีวิตชาวอิสราเอลและต่างชาติราว 1,200 คน และมีตัวประกันถูกจับเข้าไปในเขตฉนวนกาซาอีกกว่า 240 คน การสู้รบได้ทำให้พื้นที่หลายส่วนในฉนวนกาซาพินาศย่อยยับ โดยกระทรวงสาธารณสุขที่ควบคุมโดยกลุ่มฮามาสระบุว่า มีประชาชนในเขตปกครองนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 22,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี

ขณะเดียวกัน องค์การสหประชาชาติชี้ว่า 85% ของประชากร 2.3 ล้านคนในฉนวนกาซาต้องกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นจากผลกระทบของสงคราม พร้อมเตือนว่า ภัยจากความอดอยากและโรคระบาดกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในเขตฉนวนกาซา

นายอุม โมฮาหมัด อัล-อาร์คาน หนึ่งในผู้พลัดถิ่นในเขตกาซา กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ชาวเขาที่เป็นชาวปาเลสไตน์ หวังว่า นายบลิงเคนจะมองมาที่พวกเขาด้วยสายตาแห่งความเมตตา “โปรดหยุดสงคราม และหยุดความรันทดที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเรา”