9 ธันวาคม "วันต่อต้านการทุจริตสากล" ไทยอยู่จุดไหนของดัชนีโลก

09 ธ.ค. 2566 | 01:44 น.

สหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล (International Anti-Corruption Day) ซึ่งบางแห่งก็เรียกทับศัพท์ว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อประกาศว่าทุกประเทศเห็นพ้องว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบนั้น คืออาชญากรรม

 

วันต่อต้านการทุจริตสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 9 -11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น UN จึงประกาศให้ วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล (International Anti-Corruption Day) โดยในปี 2023 นี้ มีธีมของการรณรงค์กิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบว่า UNCAC at 20: Uniting the World Against Corruption ซึ่งหมายความถึง “ครบรอบ 20 ปี UNCAC โลกร่วมใจต่อต้านการทุจริต” เนื่องจากในปีนี้ เป็นปีที่ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต มีอายุครบ 20 ปี

UNCAC at 20: Uniting the World Against Corruption

สำหรับ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ดังนี้

  1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน: ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก
  2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา: ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ คืออาชญากรรม
  3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ: ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือที่เรียกว่า ดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ซึ่งมีการจัดทำเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นรัฐภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ว่ามีความก้าวหน้าหรือถอยหลัง ในการกำราบปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศอย่างไรบ้าง ผลดัชนีชี้วัด CPI ล่าสุดเป็นของปี 2565 พบว่า

ในบรรดาประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้นจำนวน 180 ประเทศ “ประเทศไทย” ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า (2564) ที่ได้คะแนน 35 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยอยู่อันดับที่ 4 ขณะประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ส่วนอันดับที่ 2 และ 3 คือประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม โดยได้คะแนน 47 และ 42 ตามลำดับ

ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก

คะแนนที่สูงนั้น หมายถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีน้อยในประเทศนั้นๆ ซึ่งปี 2565 ประเทศเดนมาร์ก ถูกจัดให้มีคะแนนสูงสุดของโลก ได้คะแนน 90 คะแนน อันดับที่ 2 ตกเป็นของประเทศฟินแลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ได้คะแนน 87 คะแนนเท่ากัน ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนน้อย ซึ่งสะท้อนว่ามีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากนั้น ประเทศโซมาเลีย รั้งอันดับท้ายสุด คือได้คะแนนเพียง 12 คะแนน

จากผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข เพราะการทุจริตจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ที่สำคัญคือ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคม ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์ให้ทั่วโลกได้เห็น