"เศรษฐา" ยันคนไทย 162 คนปลอดภัยแล้ว หลังเกิดการสู้รบในรัฐฉาน เมียนมา

03 พ.ย. 2566 | 02:11 น.

นายกฯเผยคนไทย 162 คนในเมืองเล่าก์ก่าย ซึ่งอยู่ในรัฐฉาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ได้รับความช่วยเหลือและปลอดภัยแล้วหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในพื้นที่

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านทางเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์วานนี้ (2 พ.ย.) เกี่ยวกับคนไทยที่ติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย รัฐฉาน จากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา โดยยืนยันว่า คนไทยจำนวน 162 คนปลอดภัยแล้ว

"ผมได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่มีคนไทยและชาติอื่น ๆ ติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายจากการสู้รบ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ประสานทางการเมียนมาให้ช่วยเหลือคนไทยจำนวน 162 คน และจัดให้พักในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว  ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังหารือกับทางการเมียนมาเพื่อช่วยให้คนไทยทั้งหมดกลับไทยโดยเร็วครับ" นายเศรษฐาระบุ

\"เศรษฐา\" ยันคนไทย 162 คนปลอดภัยแล้ว หลังเกิดการสู้รบในรัฐฉาน เมียนมา

ก่อนหน้านี้ สื่อของเมียนมา รายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ทำให้มีชาวต่างชาติประมาณ 500 คนรวมทั้งคนไทยเกือบ 200 คนถูกกักตัวอยู่ภายในเมืองเล่าก์ก่าย (Laukkai) โดยรายงานของเว็บไซต์อิระวดี (irrawaddy.com) ของเมียนมา ระบุมีผู้ถูกกักตัวหลายชาติ อาทิ เนปาล เอธิโอเปีย ลาว และในจำนวนนี้มีคนไทย 189 คน

เมืองเล่าก์ก่าย อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานของเมียนมา ติดกับชายแดนประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนเปิดเผยกับสื่อว่า ชาวต่างชาติเหล่านี้ถูกล่อลวงมาทำงานในเมียนมาโดยแก๊ง 18 มงกุฎออนไลน์และได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว แต่แทนที่หน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของทางการเมียนมาจะส่งพวกเขาคืนให้แก่หน่วยงานของประเทศต้นทางของชาวต่างชาติเหล่านี้ กลับส่งพวกเขาไปยังค่ายทหารและบังคับใช้แรงงานในค่าย ทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นเหมือน “โล่มนุษย์” หรือ human shield ที่ถูกนำมาใช้ให้อยู่ด่านหน้า ซึ่งจะได้รับอันตรายก่อนเลยหากมีการปะทะหรือถูกโจมตี

ทั้งนี้ เมืองเล่าก์ก่ายเป็นเมืองชายแดนในรัฐฉานของเมียนมา มีพรมแดนติดกับจีน ด้วยความที่อยู่ห่างไกลและมีภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขา เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการพนันออนไลน์และอาชญกรรมการหลอกลวงทางออนไลน์ (online scammer) ที่มีการล่อลวงชาวต่างชาติในประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งคนไทย เข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า แรงงานเหล่านี้ถูกบังคับทำงาน ถูกยึดหนังสือเดินทางและมักมีการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้กระทั่งถูกขายต่อเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ทำให้หน่วยงานภาครัฐของหลายประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันหาทางช่วยเหลือพวกเขาออกมา

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดการสู้รบกันหนักขึ้นในพื้นที่รัฐฉานระหว่างกองทัพรัฐบาลกลางและกองทัพแนวร่วม The Brotherhood Alliance ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในรัฐฉาน