เปิดประวัติ-ผลงาน คลอเดีย โกลดิน ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023

10 ต.ค. 2566 | 01:19 น.

“คลอเดีย โกลดิน” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วัย 77 ปี เจ้าของผลงานการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมด้านเงินเดือนและค่าจ้างแรงงานแก่สตรีเพศ เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2023

 

ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศวานนี้ (9 ต.ค) ว่า รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2023 ตกเป็นของ ศาสตราจารย์คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin)  นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน วัย 77 ปี จากผลงานการศึกษาข้อมูลตลาดแรงงานอเมริกันตลอดช่วง 200 ปีย้อนหลังจนเห็นสาเหตุของ “ความเหลื่อมล้ำ” ในตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นกับสตรีเพศ ผลงานของเธอสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศทางด้านการว่าจ้างและค่าแรงของสตรี ซึ่งแม้ในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ ก็ยังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้แก่เพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย

การประกาศรางวัลดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (9  ต.ค.) มอบให้กับ ศ.คลอเดีย โกลดิน ผู้อุทิศตนเพื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลย้อนหลัง 200 ปีเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในที่ทำงาน ซึ่งผลการศึกษาสะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นเพียงใด แต่รายได้ของผู้หญิงกลับเติบโตไม่ทันรายได้ที่ผู้ชายได้รับ และช่องว่างดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แม้ผู้หญิงจะมีระดับการศึกษาที่สูงกว่าผู้ชายก็ตาม

ศาสตราจารย์คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin)  นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน วัย 77 ปี

ศาสตราจารย์โกลดิน วัย 77 ปี กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติสาขานี้ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ไม่ต้องรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ชาย ปัจจุบัน เธอสอนวิชาประวัติศาสตร์การตลาดแรงงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นายจาค็อป สเวนสัน ประธานกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การเข้าใจบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงานนั้นมีความสำคัญต่อสังคม และด้วยงานวิจัยที่เปิดพรมแดนใหม่ชิ้นนี้ทำให้โลกได้รับรู้ถึงปัจจัยสำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังช่องว่าง (ความเหลื่อมล้ำ)ของการจ่ายค่าแรงระหว่างเพศชายและเพศหญิง และยังทำให้รับรู้ถึงอุปสรรคที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในอนาคต

ด้านนายรานดี ฮจาลมาร์สัน หนึ่งในกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า แม้งานของโกลดินไม่ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหา แต่งานวิจัยชิ้นนี้ที่ทำให้เห็นและเข้าใจต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะปูทางไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและฝังรากลึกได้ในอนาคต

“ศาสตราจารย์ได้ทำให้พวกเรามีความเข้าใจมากขึ้นถึงผลลัพธ์ของตลาดแรงงานสตรี”

“ศาสตราจารย์ได้ทำให้พวกเรามีความเข้าใจมากขึ้นถึงผลลัพธ์ของตลาดแรงงานสตรี”

ถึงแม้ว่าปัจจัยด้านสาขาการเรียนเมื่อยังเยาว์วัยมักถูกนำมาเป็นปัจจัยบ่งชี้ความแตกต่างทางรายได้ระหว่างเพศชายและเพศหญิง แต่ทว่าผลการศึกษาของ ศ.โกลดิน ค้นพบว่า ช่องว่างทางรายได้ปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เกิดมาจากผลกระทบของการมีบุตร (ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายตั้งครรภ์และลาคลอด เป็นต้น)

“เธอเป็นนักสืบทางวิชาการ ผลงานอันโดดเด่นนี้สามารถวางรากฐานให้กับบรรดาผู้วางนโยบายในสาขานี้ทั่วโลก” หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลกล่าว ทั้งนี้ ทั่วโลกมี 50% ของผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานเมื่อเทียบกับ 80% ของผู้ชาย แต่ทว่าผู้หญิงได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าและอีกทั้งยังประสบความสำเร็จจุดสูงสุดทางอาชีพการงานได้ยากกว่า

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ ยังอาจถือเป็นก้าวเล็ก ๆ ในการลดช่องว่างระหว่างเพศของผู้รับรางวัลด้วย เพราะ ศ.โกลดิน เป็นสตรีคนที่สามที่ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผู้เคยได้รับรางวัลนี้จำนวนทั้งสิ้น 93 คน

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1968 โดยธนาคารแห่งประเทศสวีเดนเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ในปี 1895 และเริ่มมีการเริ่มมอบรางวัลโนเบลสาขาต่างๆมาตั้งแต่ปี 1901

ในปีนี้ การประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีขึ้นหลังการประกาศรางวัลในสาขาการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และสาขาสันติภาพ พิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในเดือนธันวาคมนี้ โดยรางวัลที่ได้รับประกอบด้วยเงินสด 11 ล้านโครนสวีเดน (ราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเหรียญทองคำ 18 กะรัต พร้อมทั้งใบประกาศนียบัตร

สำหรับประวัติส่วนตัว ศ.โกลดิน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมในปีค.ศ. 1946 (พ.ศ.2489) ครอบครัวเป็นชาวยิวที่พำนักอาศัยอยู่ในย่านบรองซ์ของมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสมัยวัยเด็กเธอสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และใฝ่ฝันอยากเป็นนักโบราณคดี แต่ต่อมาเมื่ออยู่ในวัยมัธยมก็เบี่ยงเบนความสนใจไปทางด้านวิทยาแบคทีเรีย (bacteriology) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจุลชีววิทยา ดังนั้นหลังจากจบชั้นมัธยมปลายที่ Bronx High School of Science จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก โดยเบื้องต้นตั้งใจเรียนด้านวิทยาแบคทีเรีย

แต่ก็ต้องมาเปลี่ยนใจอีกครั้งสมัยเรียนปีสองเมื่อได้เข้าเรียนในชั้นเรียนเศรษฐศาสตร์กับอัลเฟร็ด คาห์น นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทลายกำแพงด้านกฎระเบียบเพื่อการเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เขาเป็นผู้จุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เศรษฐศาสตร์เป็นกุญแจไขข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ต่างๆ ให้กับโกลดิน เธอหันมาสนใจเศรษฐศาสตร์และคว้าปริญญาตรีด้านนี้จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ก่อนจะไปศึกษาต่อโทและเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก เพื่อศึกษาด้านประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ตลาดแรงงาน

หลังจบปริญญาเอก เธอเข้าสอนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ก่อนที่จะมาเป็นศาสตราจารย์สอนที่คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1990