ไบเดนเยือนฮานอย ประกาศ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” คานอิทธิพลจีน

11 ก.ย. 2566 | 03:30 น.

ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเยือนกรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ พร้อมคณะผู้แทนบริษัทเอกชนชุดใหญ่ ยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐ-เวียดนามสู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” ครอบคลุมเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ไปจนถึงภูมิรัฐศาสตร์ คานอำนาจจีนในภูมิภาค

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือน กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม อย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี20 ที่ประเทศอินเดีย โดยการเยือนฮานอยครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-เวียดนาม ยกระดับเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (comprehensive strategic partnership)

ทำเนียบขาวระบุว่า นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยผลักดันให้สหรัฐก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดเดียวกันกับจีน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางการทูตในระดับสูงมากกับเวียดนาม

การเยือนเวียดนามครั้งนี้ ปธน.ไบเดน ได้พบหารือกับนายเหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ

การหารือครอบคลุมหลากหลายประเด็นความร่วมมือและข้อตกลงหลายรายการ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเหมืองแร่

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐพยายามมาหลายเดือนที่จะผลักดันการยกระดับความใกล้ชิดกับกรุงฮานอย ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐมองว่าเวียดนามเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูง และมีส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ของประเทศในการสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมลดความเสี่ยงที่มาจากจีน

นายเหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดทางการเมืองของเวียดนาม กล่าวว่า “ผมและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในฐานะตัวแทนประเทศของเราทั้งสอง ตัดสินใจที่จะออกแถลงการร่วม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐอเมริกาขึ้นสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนาและความมั่นคง”

ขณะที่ปธน.ไบเดนยืนยันว่า นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ที่วันนี้ ทั้งสองประเทศสามารถมองย้อนดูช่วงเวลา 50 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเวียดนาม จากช่วงที่มีความขัดแย้งจนถึงช่วงที่การปรับความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับปกติ จนถึงสถานะใหม่ที่มีการยกระดับขึ้นมานี้ ซึ่งจะเป็นขุมพลังแห่งความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในภูมิภาคที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่อไป

การประกาศร่วมครั้งนี้ ย้ำถึงการกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเวียดนาม ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันอันไม่น่าจดจำนักเพราะความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็นเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน

นายเหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

นายเหงียน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ได้รับความเคารพมากที่สุดและทรงอำนาจที่สุดของประเทศ กล่าวย้ำว่า เวียดนามจะเดินหน้าเสริมสร้างความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐอเมริกา และ “หุ้นส่วนนานาประเทศของเวียดนาม” ให้แข็งแกร่งต่อไป โดยเขากล่าวว่า “เวียดนามนั้นเป็นมิตร เป็นหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้ และเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมโลก”

“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน”ของเวียดนาม

ด้านนายจอห์น เคอร์บี ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ให้ความเห็นกับสำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ ระบุว่า เวียดนามต้องการให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น และขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความกังวลในหลายด้านเช่นเดียวกับสหรัฐ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและมุมมองด้านความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเด็นพฤติกรรมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

พัฒนาการด้านความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศเวียดนามที่เพิ่งยอมกลับมาจัดตั้งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสหรัฐอีกครั้งในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ.2538) และพยายามผูกมิตรอย่างระมัดระวังกับจีนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเยือนของปธน.ไบเดน เวียดนามยอมรับเพียง 4 ประเทศเท่านั้นในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” ซึ่งก็คือ จีน รัสเซีย อินเดียและเกาหลีใต้

นายเกรกอรี โพลิง นักวิจัยอาวุโสจาก Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า ขณะที่ฝ่ายสหรัฐอาจมองว่า ชื่อเรียกของระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้เป็นเหมือนการเล่นคำ แต่สำหรับเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือการปกครองด้วยลำดับชั้นตามลัทธิเลนินอย่างเข้มงวดแล้ว เรื่องนี้เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นายบิช ทราน นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะยกระดับได้ต่อไปอีก

“การยกระดับอย่างเป็นทางการนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เวียดนามสามารถทำงานร่วมกับฝ่ายอเมริกันได้” และว่า “ปีนี้ (2566) ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำการเช่นนี้ เพราะเป็นช่วงครบรอบ 10 ปีของการเป็น “หุ้นส่วนรอบด้าน” (Comprehensive Partnership) และครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐ-เวียดนาม และการยกระดับนั้นจะช่วยให้มีความร่วมมือเชิงลึกมากขึ้นระหว่างสองประเทศ ทั้งยังจะตอกย้ำเวียดนามให้ยึดมั่นในการพัฒนาแนวทางการปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนเองต่อไปด้วย”

อย่างก็ตาม ขณะยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐ เวียดนามก็ยังเดินหน้ารักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนต่อไป โดยแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลกรุงฮานอยและเจ้าหน้าที่การทูตบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า มีการคาดกันว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ซึ่งอาจรวมถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจเดินทางเยือนเวียดนามในเร็ว ๆ นี้

แต่สำหรับสหรัฐแล้ว ปธน.ไบเดน ยืนยันว่า การเดินทางมาพบกับผู้นำเวียดนามในครั้งนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องของจีนเลย เขาย้ำระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงฮานอยวานนี้ (10 ก.ย.) ว่า

“ประเด็นของการเดินทางครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมจีนเลย ผมไม่ได้ต้องการควบคุมจีน ผมเพียงต้องการสร้างความมั่นใจว่า เราจะมีความสัมพันธ์กับจีนที่มีแต่ดีขึ้นและดีขึ้น”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการจะแยกตัวออกห่างจากจีน แต่สิ่งที่เขาในฐานะผู้นำสหรัฐ จะไม่ทำก็คือ “ผมจะไม่ขายวัสดุใด ๆ ที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้กับจีน และจะไม่เข้าร่วมกับกิจกรรมทางทหารใด ๆ ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่พัฒนาการด้านบวกสำหรับภูมิภาคนี้”

เมื่อสัมพันธ์แน่นแฟ้น การค้า-การลงทุนก็พุ่งตาม

การเยือนเวียดนามของปธน.ไบเดนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนทวิภาคีกำลังเติบโต ท่ามกลางฉากหลังที่ข้อพิพาทเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นมายาวนานระหว่างเวียดนามและจีน ก็กำลังทวีความร้อนแรง นี่จึงถือเป็นโอกาสที่สหรัฐจะเดินหน้าผลักดันด้านเศรษฐกิจ-การค้ากับเวียดนาม

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า สายการบินเวียดนาม แอร์ไลน์ จะลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ประมาณ 50 ลำ จากบริษัทโบอิ้งของสหรัฐ ในข้อตกลงมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงที่เวลาที่ปธน.ไบเดนเยือนกรุงฮานอยครั้งนี้

นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งมิตรภาพสำหรับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ผู้บริหารบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่อย่าง Google , Intel , Amkor , Marvell และ GlobalFoundries  รวมทั้งโบอิ้ง พร้อมด้วยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะพบปะหารือกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีของเวียดนามในวันจันทร์นี้ (11 ก.ย.) ที่กรุงฮานอย

อีกสาขาความร่วมมือสำคัญระหว่างสหรัฐและเวียดนามที่ได้รับการตอกย้ำในการเยือนกรุงฮานอยของปธน.ไบเดนในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยรัฐบาลสหรัฐมีเงิน 100 ล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเวลาห้าปีภายใต้พระราชบัญญัติ CHIPS เพื่อสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งความสนับสนุนส่วนใหญ่อาจส่งไปที่เวียดนาม รวมทั้งความสนับสนุนเพิ่มเติมด้านการฝึกอบรมคนงานที่มีทักษะ เนื่องจากเวียดนามกำลังเผชิญกับการขาดแคลนวิศวกรในภาคการผลิตชิป

ประเด็นสำคัญอีกประการ คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของแร่ธาตุที่สำคัญ โดยเฉพาะแร่หายาก ซึ่งเวียดนามมีแหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากจีน