รูปแบบการซื้อน้ำหอมขวดจิ๋ว กับภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ

24 ส.ค. 2566 | 17:24 น.

การซื้อน้ำหอมของคนเราบ่งบอกได้ว่าตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร รายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อน้ำหอมออนไลน์ของผู้บริโภคในอเมริกาล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าพวกเขากำลังประหยัดการใช้จ่าย ซึ่งอาจจะสวนทางกับตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจที่ดูดี

 

ในช่วงที่มี ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้าน พฤติกรรมผู้บริโภค มักแนะนำให้ดู ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจใกล้ตัว นั่นก็คือ รูปแบบการซื้อสินค้า โดยเฉพาะ สินค้าฟุ่มเฟือย ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไป โดยพวกเขาอาจจะหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง หรือไม่ก็ลดความถี่ในการซื้อสินค้านั้น จากที่เคยซื้อบ่อยๆ ก็เว้นระยะห่างมากขึ้น หรือไม่ก็อาจจะงดซื้อสินค้านั้นๆไปเลยก็ได้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า “น้ำหอม” เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดได้ในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น โดยขณะนี้ยอดขายน้ำหอมที่มีราคาระดับกลาง ไม่แพงจนเกินไป กำลังพุ่งแรงในตลาดสหรัฐ ยกตัวอย่างน้ำหอมที่บรรจุในขวดเล็กๆแบบหัวลูกกลิ้งที่พกพาสะดวกและราคาสบายกระเป๋า ยอดขายขยับสูงขึ้นถึง 207% นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี้ (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) ส่วนน้ำหอมบรรจุหลอดจิ๋วๆแบบน้ำหอมตัวอย่างที่มีราคาถูกลงมาอีก ยอดขายพุ่ง 183% ตามมาด้วยแบบสเปรย์ (บอดี้มิสต์) ยอดขายโต 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน

บริษัทแพทเทิร์น (Pattern) ซึ่งเก็บข้อมูลอีคอมเมิร์ซและวิเคราะห์พฤติกรรมการหาข้อมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ที่มีจำหน่ายทางเว็บไซต์แอมะซอนและร้านค้าออนไลน์อื่นๆ ระบุว่า รูปแบบการซื้อน้ำหอมเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคกำลังประหยัดการใช้จ่าย แม้ว่าดัชนีเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการอาจให้ภาพที่ดูดีมีอนาคตมากกว่านั้น

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ในยามที่เศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับราคาที่ถูกหรือแพงของสินค้า ก็ยังไม่ได้งดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังคงซื้อสินค้าราคาแพงอย่างช๊อคโกแลต น้ำหอม หรือเครื่องสำอาง ที่ทำให้รู้สึกดี-มีความสุข

น้ำหอมที่มาในขวดจิ๋วทำให้ผู้บริโภคยังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยได้ในราคาสบายกระเป๋า แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาลงก็ตาม

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่ราคาไม่แพงจนเกินไปในยามที่เศรษฐกิจซบเซานี้ เรียกว่า ลิปสติก เอฟเฟคท์ (Lipstick Effect) เรื่องนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากดัลลิน แฮตช์ นักวิเคราะห์ข้อมูลจากแพทเทิร์นว่า ถ้าหากมองดูเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ จะเห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจจะถูกสั่นคลอนอยู่บ้างทำให้พวกเขาต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น ซึ่งกรณีของ “น้ำหอม” ก็เป็นเช่นเดียวกับ “ลิปสติก” คือแม้ในยามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้บริโภคก็ยังคงซื้อสินค้าสองอย่างนี้อยู่ดี แต่ซื้อในรูปแบบที่แตกต่างออกไปและเหมาะกับเงินในกระเป๋าของตัวเอง

“น้ำหอมดูเหมือนจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยตัวใหม่ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อในยามที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน”

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาอีกชิ้นจากบริษัทวิจัยตลาด เซอร์คานา (Circana) ที่ชี้ว่า น้ำหอมขวดจิ๋ว (mini bottles) คือขนาดของน้ำหอมที่ขายดีที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (2566) ข้อมูลดังกล่าวเก็บรวบรวมจากจุดจำหน่ายของผู้ค้าปลีก

น้ำหอมบรรจุขวดขนาดมินิ ความจุไม่ถึง 1 ออนซ์ (ไม่ถึง 30 มล.) ทำยอดขายได้มากกว่าทุกๆขนาด โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนยอดขายจาก 35% ของยอดขายทั้งหมดเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็น 38% ในปีนี้ (6 เดือนแรก) น้ำหอมขนาดบรรจุดังกล่าวขายดีกว่า ราคาถูกกว่า โดยมีราคาแค่เพียง 1 ใน 3 ของขวดขนาดใหญ่ จุดนี้ดึงดูดใจผู้บริโภคที่อยากประหยัดแต่ก็มีความสุขกับการซื้อของฟุ่มเฟือยเล็กๆน้อยๆ

ลาริสสา เจนเซ่น ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมความงาม บริษัทวิจัยตลาด เซอร์คานา ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า ธุรกิจความงามจับทางความต้องการของผู้บริโภคได้ถูกจุดแล้ว โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความรู้สึกดีๆ แม้อาจจะดูว่าฟุ่มเฟือยแต่ราคาก็ยังจับต้องได้และซื้อหาได้ ในยามที่อำนาจการซื้อยังคงถูกบีบคั้นอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เรายังได้เห็นยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในหมวดเครื่องสำอาง สกินแคร์ และผลิตภัณฑ์บำรุงผม ทั้งในกลุ่มราคาแพงและกลุ่มแมสมาร์เก็ตในตลาดสหรัฐ มีการขยายตัว 15% และ 9% เป็น 14,000 ล้านดอลลาร์และ 28,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ข้อมูลอ้างอิง