ส่องเทรนด์ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในสิงคโปร์: โอกาสของผู้ประกอบการไทย

30 ก.ค. 2566 | 17:25 น.

ตามไปดู ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติสุดล้ำในสิงคโปร์ ที่ขายสารพัดสินค้า ตั้งแต่อาหาร ทองคำ ยันรถหรู ผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้และต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ

 

สิงคโปร์ เป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่นำ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (vending machine) มาให้บริการสินค้าประเภทอาหาร น้ำผลไม้ และขนมขบเคี้ยวต่างๆ  ปัจจุบันยังคงมีพัฒนาการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง นอกจากความทันสมัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว สารพัดสินค้าที่ขายผ่านตู้ยังถือว่า “ล้ำหน้า” ไปมาก

สิงคโปร์มีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งตามห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ HDB คอนโดมิเนียม รวมไปถึงโรงเรียน โรงพยาบาล และสนามกีฬา สินค้าไม่เพียงจำกัดอยู่แค่เครื่องดื่มร้อนหรือเย็น หรือขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 50% แต่ยังมีตู้ขายอาหารสารพัด ทั้งพิซซ่า สลัด ไปจนถึงเมนูปูในซอสพริก ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของสิงคโปร์จากภัตตาคาร House of Seafood

ที่เก๋ไก๋ไปกว่านั้น คือ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในสิงคโปร์ทุกวันนี้ ยังมีความทันสมัยมากขึ้น เช่นมีระบบหน้าจอสัมผัส (touch screen) และการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด (cashless) ที่สะดวกสบาย จึงได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คนในประเทศ

ประเภทของสินค้าที่จำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติ

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ร้าน Chef-in-Box ได้พัฒนาตู้ขายอาหารกล่องอัตโนมัติ ซึ่งจะอุ่นร้อนอาหารให้รับประทานได้ทันที เช่น ก๋วยเตี๋ยวและข้าวมันไก่ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในสิงคโปร์ ตู้ขายข้าวกล่องร้อน ๆ นี้ติดตั้งแล้วกว่า 30 แห่งทั่วเกาะสิงคโปร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีเครื่องจำหน่ายอาหารแช่แข็ง เช่น ปลาแซลมอนและเนื้อวากิวไว้บริการด้วย

น้ำมะพร้าวของไทย ก็เป็นที่นิยมในสิงคโปร์เช่นกัน โดยเครื่องจำหน่ายน้ำมะพร้าวสดทั้งลูกแบบเจาะหลอดพร้อมดื่มของบริษัท CocoThumb เป็นที่ถูกใจของผู้นิยมน้ำมะพร้าว ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทได้ติดตั้งตู้ขายน้ำมะพร้าวแบบนี้แล้วประมาณ 20 เครื่อง สามารถทำยอดขายได้เดือนละกว่า 10,000 ลูก

ตู้จำหน่ายอัตโนมัติน้ำมะพร้าวของไทย ติดตั้งอยู่ทั่วเกาะสิงคโปร์

สินค้าอื่น ๆ ที่ล้ำไปกว่าอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ สินค้าจากแบรนด์ Minoso และ Kalms ทั้งต้นกระบองเพชร ของเล่น ตุ๊กตา หนังสือ และเครื่องสำอาง

นอกจากการจำหน่ายสินค้าแล้ว ตู้อัตโนมัติยังถูกใช้ในการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าด้วย อาทิ บริษัท Try Leh ได้พัฒนาตู้อัตโนมัติสำหรับกดรับตัวอย่างสินค้าฟรีๆ โดยคิดค่าบริการจากเจ้าของสินค้านั้น ๆ นอกจากนี้ ตามห้างสรรพสินค้ากลางเมือง หรือตามแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ยังมีตู้อัตโนมัติจำหน่ายทองคำ ที่มีทั้งทองแท่งและเหรียญทองที่ระลึก และล่าสุดบริษัท SmartRX ของสิงคโปร์ ยังให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ผ่านตู้อัตโนมัติอีกด้วย

ตู้อัตโนมัติจำหน่ายทองคำก็มีนะ

ล่าสุด ที่แหวกแนวและล้ำหน้ากว่าใครๆ คือการดัดแปลงอาคารสูง 15 ชั้น มาเป็นแคทตาล็อกรถยนต์หรูแบบแนวตั้งของบริษัท Autobahn Motors ในลักษณะคล้ายเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ที่ลูกค้าสามารถกดเลือกซื้อรถยนต์ได้เลยอีกด้วย

วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของธุรกิจนี้

จากข้อมูลของบริษัท Euromonitor International พบว่า ยอดขายจากตู้อัตโนมัติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างมาก โดยยอดขายในสิงคโปร์เติบโต 10% และสร้างกำไรมากขึ้นประมาณ 15% หรือ 104.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2560 ปัจจัยหลักของการเติบโตในสิงคโปร์คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น กับการคำนึงถึงความคุ้มค่าของการลงทุนของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ 

ดัดแปลงอาคารสูง 15 ชั้น เป็นแคทตาล็อกรถยนต์หรูแบบแนวตั้งของบริษัท Autobahn Motors ลูกค้าสามารถกดปุ่มซื้อรถได้ทันที   

การที่สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรหนาแน่น รวมถึงวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ที่ชอบความสะดวกสบายและมีความเร่งรีบมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้จำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมีเพิ่มขึ้น และความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายก็มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการค้าปลีก ภาวะค่าแรง และค่าเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการก้าวสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มขั้นของสิงคโปร์ (super-aged society) ได้กลายเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางการขายแบบใหม่ ๆ ซึ่งตู้อัตโนมัติเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว เนื่องจาก...

  • ไม่ต้องจ้างพนักงานขาย
  • ใช้พื้นที่น้อย
  • ดำเนินการง่าย
  • สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ด้วยความสะดวกในการชำระเงินแบบ cashless และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกและดึงดูดผู้บริโภคให้มากดใช้งานมากขึ้น

ในเชิงบริหารจัดการ ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกใช้ระบบบริหารจัดการเครื่องจากผู้ผลิต ทั้งการดูยอดสินค้าคงเหลือและการซื้อขายผ่านเครื่องแบบ real-time รวมถึงการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ผู้บริโภค เช่น การติดกล้องหน้าที่เครื่องอีกด้วย นอกจากนี้ การที่สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ผู้ประกอบการจึงไม่กังวลเรื่องการทำลายหรือการโจรกรรมสินค้าและเงินจากเครื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องจำหน่ายอัตโนมัติกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทย

ในประเทศไทย เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้คือเครื่อง “เต่าบิน” ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแบบชงสดได้มากถึง 170 รายการ ในราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่าร้านกาแฟทั่วไปครึ่งหนึ่ง ติดตั้งแล้วมากกว่า 6,000 เครื่องทั่วประเทศ และจำหน่ายเครื่องดื่มถึง 200,000 แก้วต่อวัน ซึ่งบริษัทเต่าบินมีแผนจะขยายธุรกิจเต่าบินไปยังต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียด้วย

อย่างไรก็ดี การลงทุนกับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 1 เครื่องในปีแรกมีค่าใช้จ่ายประมาณ 9,000 – 16,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงค่าตู้จำหน่าย ค่าเช่าที่ ค่าเติมสินค้า (restocking) ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย และค่าใบอนุญาตจำหน่ายสินค้า (หากมี) เฉพาะตู้จำหน่ายสินค้ามือหนึ่งราคาประมาณ 2,000 – 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเครื่อง หากเป็นเครื่องเช่า ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 400 – 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน

อุตสาหกรรมการค้าปลีกต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ การใช้เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะยังเติบโตต่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางของรูปแบบการขาย และเป็นสินทรัพย์ที่มีประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมการค้าปลีก เนื่องจากสามารถใช้เพื่อระบุแนวโน้มของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคด้วยเงินลงทุนเพียงไม่มากได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรพิจารณาตลาดและความเหมาะสมของสินค้าที่จะจำหน่าย รวมถึงสถานที่ติดตั้งว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากสินค้าตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค มีความแปลกใหม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ และราคาสมเหตุสมผล เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC) สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์