อาลีบาบาผลัดใบ “โจเซฟ ไซ” ขึ้นเป็นประธานคนใหม่แทน “แดเนียล จาง”

20 มิ.ย. 2566 | 17:10 น.

แดเนียล จาง ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของอาลีบาบา กรุ๊ป จะก้าวลงจากตำแหน่ง ดัน “โจเซฟ ไซ” และ “เอ็ดดี้ อู๋” ลูกหม้อบริษัทและคนสนิทของแจ็ค หม่า ขึ้นรับตำแหน่งประธานและซีอีโอคนใหม่ตามลำดับ มีผล 10 ก.ย.นี้

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นายแดเนียล จาง ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) จะก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อย้ายไปบริหารธุรกิจคลาวด์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือแทน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ นายโจเซฟ ไซ (Joseph Tsai) รองประธานบริหารบริษัทคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนสนิทของนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัท จะรับตำแหน่งประธานบริษัทคนใหม่แทนนายจาง ส่วน เอ็ดดี้ อู๋ (Eddie Wu) ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานบริษัทเถาเป่า (Taobao) และทีมอลล์ กรุ๊ป (Tmall Group) จะเข้ารับตำแหน่งซีอีโอ มีผลในวันที่ 1 กันยายน 2566

ข่าวระบุว่า การที่นายแดเนียล จาง มุ่งไปคุมการบริหารบริษัทคลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทในเครือแทน นับเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีใครคาดคิด และเป็นการสละตำแหน่งหลังจากที่อาลีบาบาเพิ่งประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อพยายามกระตุ้นการเติบโตของบริษัท โดยแยกธุรกิจในเครือออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ และให้อำนาจแต่ละกลุ่มธุรกิจมีผู้บริหารของตนเอง และจะนำธุรกิจแต่ละกลุ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ (IPO)

นายแดเนียล จาง ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) อาลีบาบา กรุ๊ป กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง

ความเคลื่อนไหวของเขา ถือเป็นการปรับเปลี่ยนผู้นำฝ่ายบริหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและธุรกิจอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนรายนี้ ปรับโครงสร้างองค์กรมา

จางเปิดเผยวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของเขาในขณะที่อาลีบาบาประกาศการเติบโตของรายได้เป็นตัวเลขหลักเดียวเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งตอกย้ำความกังวลที่ว่า การฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนอาจอยู่ไกลกว่าที่คาดการณ์ไว้

เคนนี่ เหวิน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทบริหารความมั่งคั่ง KGI Asia Ltd วิเคราะห์ว่า สิ่งที่ดีคือประธานคนใหม่ (โจเซฟ ไซ) และซีอีโอคนใหม่ (เอ็ดดี้ อู๋) ล้วนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและสนิทกับนายแจ็ค หม่า มากที่สุด ซึ่งหมายความว่า นายหม่ายังคงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของอาลีบาบานั่นเอง “ผมไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการจะส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งใหญ่”

แดเนียล จาง เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของอาลีบาบา กรุ๊ป ในปี 2558 หลังจากมีผลงานโดดเด่นในฐานะหนึ่งในผู้ริเริ่มในแนวคิด “การค้าปลีกแบบใหม่” ของอาลีบาบา ซึ่งพาบริษัทขยายใหญ่โต และในปี 2559 เขาขึ้นเป็นประธานบริษัทควบอีกตำแหน่งหนึ่ง กล่าวได้ว่า ในยุคการบริหารของแดเนียล จาง อาลีบาบาเติบโตอย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศจีน 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนได้สร้างแรงกดดันต่อแจ็ค หม่า และแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทฟินเทคในเครืออาลีบาบา โดยทางการอ้างเหตุผลว่า อาลีบาบามีพฤติกรรมผูกขาด ก่อนจะเรียกค่าปรับสูงเป็นประวัติการณ์ แล้วตามมาด้วยปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆด้วย

เอ็ดดี้ อู๋ ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเช่นกัน

นับจากนั้นเป็นต้นมา อัตราการเติบโตของอาลีบาบาก็ไม่สูงเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อมีคู่แข่งรายใหม่อย่างไบต์แดนซ์ (ByteDance) และพีดีดี โฮลดิ้งส์ อิงค์ (PDD Holdings Inc.) ก้าวเข้ามา ทำให้ธุรกิจของอาลีบาบาเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในตลาดระบบคลาวด์ ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของคู่แข่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แรงกดดันที่มีต่ออาลีบาบาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ผู้บริหารยุคเก่าก่อนของอาลีบาบากลับมาสู่เวทีอีกครั้ง

วิลเลอร์ เฉิน นักวิเคราะห์วิจัยอาวุโสของ Forsyth Barr Asia บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่เน้นตลาดจีนและฮ่องกงให้ความเห็นว่า ยังไม่แน่ชัดว่าการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอาลีบาบาหรือไม่ เพราะมองว่าตอนนี้กุญแจสำคัญของอาลีบาบาควรอยู่ที่การหาตัวขับเคลื่อนใหม่สำหรับการเติบโตของธุรกิจให้เจอ และแผนการปรับโครงสร้างบริษัท

โจเซฟ ไซ ว่าที่ประธานบริษัทคนใหม่ของอาลีบาบา มีผล 1 กันยายน 2566

สำหรับประวัติของนายโจเซฟ ไซ ว่าที่ประธานบริษัทคนใหม่นั้น เขาเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอาลีบาบามาตั้งแต่ต้น เป็นคนสนิทของแจ็ค หม่า ที่ยอมทิ้งเงินเดือน 3 ล้านมาทำงานกับอาลีบาบารับเงินเดือนสองพันกว่าบาท และช่วยแจ็ค หม่า เป็นมือหาเงินทุนในการบริหารจัดการบริษัทตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งอาลีบาบาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน  

ไซเข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินของอาลีบาบา ไม่นานก็สามารถหาเงินลงทุนก้อนแรกให้บริษัทได้มากถึง 25 ล้านบาทจากวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นบริษัทสถาบันการเงินใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของอเมริกา

เมื่ออาลีบาบาเติบใหญ่ ไซดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร บทบาทของเขาเปลี่ยนไปเพราะอาลีบาบาไม่ต้องขอเงินจากใครแล้ว แต่กลับมีเงินเหลือเฟือซึ่งจำเป็นต้องรู้จักบริหารจัดการให้ดี เขาเบนมาดูแลการเข้าควบรวมกิจการอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กร นั่นก็คือทำให้เกิดการสร้างธุรกิจได้ทุกที่ทั่วโลก

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักในการเข้าลงทุนในบริษัทอื่น ๆ ของอาลีบาบาจะอยู่ภายใต้แนวคิดสำคัญ 2 ประการ คือ

  • ประการแรก ลงทุนไปแล้วบริษัทใหม่จะนำลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริการธุรกิจในเครืออาลีบาบามากขึ้น และลูกค้าใช้เวลาอยู่กับธุรกิจในเครืออาลีบาบามากขึ้น
  • และประการที่สอง คือการลงทุนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ดี ๆ ให้ลูกค้าอาลีบาบา

โจเซฟ ไซ เป็นคนไต้หวันโดยกำเนิด เขาเกิดที่ไทเป พ่อเป็นเจ้าของบริษัทกฎหมายชื่อดังของไต้หวัน ไซเติบโตใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอเมริกาเหมือนลูกคนรวยในไต้หวันทั่วไป เขาเรียนจบปริญญาตรี-โท-เอก ที่มหาวิทยาลัยเยล มีความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ เอเชียศึกษา และกฎหมาย

ไซมักจะให้คำแนะนำว่า วิชาที่เด็กมหาวิทยาลัยควรเรียนเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถิติ และจิตวิทยา เพราะต้องใช้สถิติในการเข้าใจคอมพิวเตอร์ แต่ต้องใช้จิตวิทยาเพื่อเข้าใจคน

ส่วนคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจก็คือ ถ้ารู้ว่ายังไม่พร้อม ต้องไปหาบทเรียนที่มีค่าที่สุดด้วยการเป็นลูกจ้าง และเรียนรู้จากเจ้านายที่เก่งๆ เมื่อพร้อมจะลุยแล้ว อย่ากลัวคำว่าล้มเหลว เพราะจะได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น และคำแนะนำสุดท้ายก็คือ ฮีโร่ตัวคนเดียวไม่มีจริง แต่ต้องหาทีมเก่ง ๆ มาร่วมงาน

คราวหน้า เราจะมาทำความรู้จัก “เอ็ดดี้ อู๋” ซีอีโอคนใหม่ของอาลีบาบากัน