ควันหลง G7 ประเด็นความมั่นคงแซงหน้าเศรษฐกิจ สงครามทวีความตึงเครียด 

22 พ.ค. 2566 | 11:41 น.

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำโลกได้ประกาศจุดยืนเกี่ยวกับกรณีสงครามในยูเครนและประเด็นความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียและจีน

 

ภายหลัง การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศมหาอำนาจของโลก 7 ประเทศ หรือ กลุ่ม G7 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 วัน ปิดฉากลงโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค.) ว่า สมาชิก G7 จะยังคงสนับสนุน ยูเครน ที่ถูกรัสเซียรุกรานมาปีกว่าแล้ว นอกจากนี้ ยังประกาศชัดเจนว่า สหรัฐจะไม่หวั่นไหวย่อท้อ และปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียจะไม่มีทางทำลายความมุ่งมั่นของชาติตะวันตกลงได้

“ทุกประเทศในกลุ่ม G7 จะยังสนับสนุนยูเครนเสมอ และเราจะเดินหน้าให้ความสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและด้านความมั่นคงให้กับยูเครน เพื่อให้ยูเครนมีความมั่นคงแข็งแกร่งตราบนานเท่านาน” ผู้นำสหรัฐกล่าว

7 ผู้นำชาติมหาอำนาจโลก พบกันที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น

สนับสนุนยูเครนทำการรบ ทั้งด้านเงินและยุทโธปกรณ์

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการแถลงข่าว ปธน.ไบเดนได้ร่วมประชุมนอกรอบกับปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน และได้ ประกาศมอบความช่วยเหลือทางการทหารก้อนใหม่ที่มีมูลค่า 375 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยยกระดับความสามารถของกรุงเคียฟในการต้านทานการรุกรานของรัสเซียที่ล่วงมาถึงเดือนที่ 15 แล้ว

ผู้นำสหรัฐเปิดเผยว่า ความช่วยเหลือชุดใหม่นี้จะประกอบด้วยความสนับสนุนด้านอาวุธ เช่น กระสุนต่าง ๆ รวมทั้งกระสุนปืนใหญ่ และพาหนะหุ้มเกราะ เพื่อช่วยกระตุ้นความสามารถในการทำการรบให้กับยูเครน และสหรัฐจะยังคงช่วยเหลือยูเครนตอบโต้ ปกป้องและซ่อมแซม รวมทั้งให้การสนับสนุนการสร้างสันติภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน โดยทั้งหมดนี้ คือเป้าหมายที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐเพิ่งประกาศแผนฝึกอบรมกองทัพกรุงเคียฟในการฝึกใช้เครื่องบิน เอฟ-16 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีที่สหรัฐพยายามรักษามาโดยตลอดในการปฏิเสธคำร้องขอจากปธน.เซเลนสกี ให้ช่วยเหลือด้านการรบทางอากาศ เนื่องจากเกรงว่า การทำเช่นนั้นอาจจะถูกตีความได้ว่าเป็นการยกระดับการทำสงครามกับรัสเซีย

ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ ปธน.ไบเดน ระบุในการแถลงข่าวว่า เขาได้รับการยืนยันอย่างเป็นมั่นเหมาะจากปธน.เซเลนสกีแล้วว่า กองทัพยูเครนจะไม่ใช้เครื่องบิน เอฟ-16 เพื่อบุกเข้าไปในดินแดนของรัสเซียเป็นอันขาด แต่จะใช้สำหรับการสู้รบกับกองทหารรัสเซียในพื้นที่อาณาเขตของยูเครนเท่านั้น

การเผชิญหน้าระหว่างชาติตะวันตกกับจีน

นอกจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียแล้ว ปธน.ไบเดน ยังพูดถึงประเด็นความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและจีนที่มีการหารือในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ด้วย โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับจีนนั้นยังคงเป็น “สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้” อยู่

อย่างไรก็ตาม ไบเดนย้ำว่า ทั้งผู้นำ G7 และผู้นำประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะต้องมีการต้านท่าทีดุดันเชิงรุกของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งรวมถึงความน่าจะเป็นที่จีนจะใช้กำลังทหารบุกไต้หวัน

ผู้นำสหรัฐกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ที่ประชุมสุดยอด G7 ไม่คาดว่า ไต้หวันจะทำการประกาศอิสรภาพของตนเอง แต่ก็จะเดินหน้าช่วยเหลือไต้หวันให้สามารถปกป้องตนเองจากการถูกรุกรานได้ ขณะที่ส่วนใหญ่ในกลุ่มพันธมิตรเข้าใจชัดเจนตรงกันว่า ถ้าหากจีนทำการรุกรานไต้หวัน ก็จะมีการตอบโต้เกิดขึ้น

คำประกาศของปธน.ไบเดนเกี่ยวกับประเด็นจีนนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำแถลงการณ์ของที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนสำหรับการใช้ “อำนาจข่มขู่ทางเศรษฐกิจ” รวมทั้งการเดินหน้ากระทำการต่างๆด้านการทหารในทะเลจีนใต้ รวมทั้งกิจกรรมการแทรกแซงต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายบ่อนทำลายความปลอดภัยของนักการทูต บูรณภาพของสถาบันด้านประชาธิปไตย และความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้ท่าทีของกลุ่ม G7 ในทันที โดยกล่าวหาว่า สมาชิกกลุ่ม G7 กำลังใช้ประเด็นเรื่องของจีนมาใส่ร้ายป้ายสีและโจมตีจีน และทำการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้ แถลงการณ์จากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังระบุด้วยว่า ไต้หวัน คือ ไต้หวันของจีน ดังนั้น การแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันจึงเป็นเรื่องของจีน เป็นเรื่องที่จีนต้องแก้ไขเอง

ด้านนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ก็ได้ออกมาแถลงว่า การตัดสินใจต่าง ๆ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ในเมืองฮิโรชิมานั้น มีเป้าประสงค์ที่จะตีกรอบควบคุมทั้งรัสเซียและจีน

มีอะไรในการประชุมจตุภาคี

ในระหว่างการเยือนเมืองฮิโรชิมาครั้งนี้ ปธน.ไบเดน ยังได้เข้าร่วม การประชุมสุดยอดผู้นำจตุภาคี หรือ กลุ่ม Quad กับผู้นำจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่มีการปรับตารางเวลาและสถานที่ จากเดิมที่มีกำหนดจัดที่นครซิดนีย์ ในสัปดาห์นี้ มาเป็นที่ญี่ปุ่น หลังผู้นำสหรัฐประกาศยกเลิกแผนการเยือนออสเตรเลีย เนื่องจากการหารือแผนขยายเพดานหนี้ภาครัฐที่กรุงวอชิงตันซึ่งเป็นเรื่องภายในของสหรัฐเองไม่มีความคืบหน้า

การพบกันของผู้นำกลุ่มประเทศจตุภาคี (Quad) ประกอบด้วย สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ในส่วนของการประชุมกลุ่ม Quad นอกเหนือจากการหารือแผนการสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุขและด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านการประสานความร่วมมือจากกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคนี้ ที่ประชุมยังหยิบยกประเด็นสงครามในยูเครนขึ้นมาพูดคุยด้วย

“พฤติการณ์ที่ใช้ความรุนแรงของรัสเซียยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบรรยากาศด้านความมั่นคงก็เผชิญสภาพความโหดร้ายรุนแรงที่สูงขึ้น ระบบระเบียบที่อ้างอิงกฎสากลระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้างก็กำลังเผชิญภัยคุกคามด้วย” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้กล่าว

อย่างไรก็ตาม ชีลา สมิธ นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชีย-แปซิฟิกศึกษาจาก Council on Foreign Relations ให้ความเห็นว่า แม้ว่านายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในฐานะ 1 ใน 4 ผู้นำประเทศกลุ่ม Quad ยังคงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการประณามรัสเซีย แต่การที่ผู้นำอินเดียยังคงมีส่วนร่วมในกลุ่ม ก็ช่วยให้จตุภาคีนี้มีบทบาทที่สำคัญในเวทีโลก

ซูซาน โลฟตัส นักวิชาการจากสถาบัน Quincy Institute กล่าวว่า การที่เมืองฮิโรชิมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 และกลุ่ม Quad นี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังรัสเซียและจีน พร้อมคาดด้วยว่า จากนี้ไป จะมีการมุ่งเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างชาติตะวันตก กับจีนและรัสเซีย โดยต่างจะพยายามช่วงชิงการมีอิทธิพลในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย หรือที่เรียกว่า Global South ให้ได้