ญี่ปุ่นระดมมาตรการแก้วิกฤตประชากร จ่ออัดฉีดงบ-จูงใจคู่สมรสมีลูกเพิ่ม

31 มี.ค. 2566 | 12:10 น.

รัฐบาลญี่ปุ่นระดมหลากมาตรการเตรียมนำมาใช้แก้วิกฤตอัตราการเกิดลดฮวบ จ่อเพิ่มงบด้านแม่และเด็กแรกเกิดสองเท่า พร้อมเสนอเพิ่มและขยายเวลาการให้ค่าเลี้ยงดูบุตร จูงใจคู่สมรสมีบุตรเพิ่ม

 

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดตัวข้อเสนอใหม่หลากหลายมาตรการเพื่อป้องกัน วิกฤตประชากร และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน มีลูกเพิ่ม หลัง นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตือนว่า ญี่ปุ่นเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ปีในการชะลอวิกฤตดังกล่าวที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจของประเทศ

ท่ามกลางความตื่นตระหนกเกี่ยวกับ สถิติจำนวนเด็กแรกเกิดในญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา (2565) จนแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือไม่ถึง 800,000 คน นายคิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ให้คำมั่นที่จะออกมาตรการต่างๆในหลากหลายมิติเพื่อจัดการกับปัญหานี้ และยังเผยแนวทางการเพิ่มงบประมาณสำหรับเด็กเป็น 2 เท่าภายในเดือนมิ.ย. นี้ พร้อมเตรียมเปิดหน่วยงานใหม่สำหรับเด็กและครอบครัวในเดือนเม.ย.2566

ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่เผยแพร่ในเดือนก.พ.2565 ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บบันทึกข้อมูล โดยอัตราการเกิดปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว

ยังมีแนวคิดบางส่วนที่เผยแพร่ในวันนี้ (31 มี.ค.) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผน 3 ปี ได้แก่

  • เงินค่าเลี้ยงดูบุตรที่ก่อนหน้านี้มีการกำหนดเพดานรายได้ของครอบครัว จะเปลี่ยนมาเป็นมอบให้แก่ทุกครอบครัว และขยายเพิ่มอีก 3 ปีจนกว่าเด็กจะจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย
  • ในแง่ของจำนวนเงินจะได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับภาระทางเศรษฐกิจของการมีครอบครัวขนาดใหญ่
  • นอกจากนี้ เงินสนับสนุนสำหรับบิดาที่ลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรจะได้รับการปรับขึ้นให้เท่ากับเงินเดือนหลังหักภาษี โดยมีเป้าหมายคือการเพิ่มสัดส่วนการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ของบิดาที่ทำงานในภาคเอกชน เป็น 50% ภายในปี 2568 และสัดส่วนของบิดาที่ลางาน 2 สัปดาห์เป็น 85% ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบกับระดับปัจจุบันที่ 14%

จำนวนเด็กแรกเกิดในญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่องมา 7 ปี และมีจำนวนต่ำที่สุดคือไม่ถึง 8 แสนคนเป็นครั้งแรกในปี 2565

สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างการแต่งงานที่ลดลงกับการให้กำเนิดบุตรที่ลดลง ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 7 ปีติดต่อกันในปี 2565 และยังต่ำกว่าระดับ 800,000 คนเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ มูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นญี่ปุ่น อายุ 17-19 ปี จำนวน 1,000 คน ผ่านทางออนไลน์เมื่อเดือนธ.ค.2565 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 65.5% ต้องการแต่งงาน แต่มีเพียง 16.5% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนเองจะได้แต่งงานอย่างแน่นอนในอนาคต ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 17.4% ไม่ต้องการจะแต่งงาน

ซึ่งเมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ตอบแบบสำรวจจึงเชื่อว่าตนเองจะไม่ได้แต่งงาน ผลปรากฏว่า

  • 47.3% ของวัยรุ่นชาย 514 คน ตอบว่า เพราะยังไม่มีแฟนหรือคิดว่าไม่น่าจะหาแฟนได้
  • 23.2% ให้เหตุผลเรื่องอุปสรรคทางการเงิน
  • ขณะที่ 52.3% ของวัยรุ่นหญิง 486 คน ให้เหตุผลว่า อยู่เป็นโสดมีภาระทางใจน้อยกว่า 

นอกจากนี้ 36.9% ของผู้ตอบแบบสำรวจรวมชายหญิง ระบุว่าไม่อยากเลี้ยงลูก และ 35.1% ระบุว่าไม่อยากสูญเสียความเป็นอิสระ ทั้งนี้ สัดส่วนของวัยรุ่นหญิงที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีสูงกว่าวัยรุ่นชาย

สำหรับประเด็นอัตราการเกิดที่ลดลงในญี่ปุ่น ผู้ตอบแบบสำรวจ 74.1% กล่าวว่า รู้สึกถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจ

และเมื่อถามถึงอุปสรรคในการมีลูก ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันตอบว่า “ภาระทางการเงิน” คืออุปสรรคสำคัญที่สุด

ขณะที่ การเรียนฟรี (สำหรับบุตร) คือมาตรการที่ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกมากที่สุด ในฐานะ "ทางออก" ในการแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง