วัยรุ่นญี่ปุ่นมอง “อุปสรรคสำคัญที่สุด” ในการมีลูกคือ?

23 ม.ค. 2566 | 17:30 น.

ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยและยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ทั้งนี้ ในสายตาของวัยรุ่นญี่ปุ่น “ภาระทางการเงิน” เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการมีลูก

 

มูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของ วัยรุ่นญี่ปุ่น อายุ 17-19 ปี จำนวน 1,000 คน ผ่านทางออนไลน์เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา (2565) พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 65.5% ต้องการแต่งงาน แต่มีเพียง 16.5% ที่เชื่อว่าตนเองจะได้แต่งงานอย่างแน่นอนในอนาคต ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 17.4% ไม่ต้องการจะแต่งงาน

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ตอบแบบสำรวจจึงเชื่อว่าตนเองจะไม่ได้แต่งงาน ผลปรากฏว่า

  • 47.3% ของวัยรุ่นชาย 514 คน ตอบว่า เพราะยังไม่มีแฟนหรือคิดว่าไม่น่าจะหาแฟนได้
  • 23.2% ให้เหตุผลเรื่องอุปสรรคทางการเงิน
  • ขณะที่ 52.3% ของวัยรุ่นหญิง 486 คน ให้เหตุผลว่า อยู่เป็นโสดมีภาระทางใจน้อยกว่า 

นอกจากนี้ 36.9% ของผู้ตอบแบบสำรวจรวมชายหญิง ระบุว่าไม่อยากเลี้ยงลูก และ 35.1% ระบุว่าไม่อยากสูญเสียความเป็นอิสระ ทั้งนี้ สัดส่วนของวัยรุ่นหญิงที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีสูงกว่าวัยรุ่นชาย

สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการแต่งงานที่ลดลงกับการให้กำเนิดบุตรที่ลดลง ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า อัตราการเกิดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 7 ปีติดต่อกันในปี 2565 และต่ำกว่าระดับ 800,000 คนเป็นครั้งแรก

การเรียนฟรี (สำหรับบุตร) คือมาตรการที่ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกมากที่สุด ในฐานะการแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง

สำหรับประเด็นอัตราการเกิดที่ลดลงในญี่ปุ่น ผู้ตอบแบบสำรวจ 74.1% กล่าวว่า รู้สึกถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจ

และเมื่อถามถึงอุปสรรคในการมีลูก ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันตอบว่า “ภาระทางการเงิน” คืออุปสรรคสำคัญที่สุด

ขณะที่ การเรียนฟรี (สำหรับบุตร) คือมาตรการที่ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกมากที่สุด ในฐานะทางออกในการแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง

รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงประเด็นสำคัญนี้ ในปีที่ผ่านมา (2565) จึงได้มีการเสนอปรับเพิ่มเงินที่มอบเป็นพิเศษให้กับคู่สมรสที่มีบุตรคนแรกจากเดิมที่เคยให้ 4.2 แสนเยน เป็น 5 แสนเยน เพื่อส่งเสริมให้คู่สมรสตัดสินใจมีบุตรท่ามกลางอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์  

นายคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอเรื่องนี้ต่อนายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ช่วงกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าข้อเสนอนี้จะผ่านการรับรองจากสภาและจะมีผลใช้ทันปีงบประมาณ 2566 นี้

 

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีอัตราการเกิดต่ำมาก

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีอัตราการเกิด (birth rate) ต่ำมาก และต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ถึงขั้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่า เป็นสถานการณ์ที่ "เข้าขั้นวิกฤต" 

ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 ทารกแรกเกิดในญี่ปุ่นมีจำนวนเพียง 599,636 คน น้อยกว่าสถิติในปีก่อนหน้า 4.9% ซึ่งหมายความว่าตัวเลขทารกแรกเกิดทั้งปีของปีที่ผ่านมาอาจอยู่ที่ระดับต่ำกว่าสถิติในปี 2564 ที่ต่ำเป็นประวัติกาณ์อยู่แล้ว (ณ 811,000 คน)

ทั้งนี้ คาดว่าทารกแรกเกิดของญี่ปุ่นจะมีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ระดับปีละ 740,000 คนในปี 2583

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลง จำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างความกังวลใจทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคง ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรกว่า 125 ล้านคน แต่คาดว่าจะลดลงเหลือ 86.7 ล้านคนภายในปี 2603 (ค.ศ.2060) ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ระดับ 1.3% แต่อัตราที่รัฐบาลคาดหมายคือ 2.1% จึงจะก่อให้เกิดสเถียรภาพจำนวนประชากร