ซีอีโอ TikTok พบคองเกรส ยันข้อมูลลูกค้ามีความปลอดภัย “ขั้นสูงสุด”

24 มี.ค. 2566 | 03:02 น.

ผู้บริหารของ TikTok (ติ๊กต็อก) ยันไม่เคยส่งข้อมูลลูกค้าให้รัฐบาลจีน ซ้ำยังลงทุนไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านปกป้องข้อมูลลูกค้าในระดับความปลอดภัยสูงสุด

 

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ นายโซ่ว จื่อ โจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของ TikTok (ติ๊กต็อก) แอปพลิเคชันแชร์วิดีโอยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามในหัวข้อ “TikTok : สภาคองเกรส สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลและพิทักษ์เยาวชนจากอันตรายบนโลกออกไลน์ได้อย่างไร”

ในการชี้แจงที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง นายโจวเน้นย้ำหลายครั้ง ว่า “TikTok” ซึ่งมี บริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) เป็นเจ้าของและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง “ไม่มีความเกี่ยวข้องในทางใดก็ตาม” กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้รัฐบาลจีนก็ไม่เคยขอข้อมูลจากTikTok ขณะที่ TikTok ก็ไม่เคยส่งมอบข้อมูลใดๆให้แก่ทางการจีนด้วยเช่นกัน

ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล นายโจวกล่าวว่า บริษัทดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานราว 150 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ TikTok ได้จัดทำไฟร์วอลล์เพื่อคุ้มครองข้อมูลของลูกค้าในสหรัฐจากการเข้าถึงโดยบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับอนุญาตตลอดช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา

“เราขอยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดของลูกค้าในสหรัฐ ได้รับการจัดเก็บในสหรัฐ ดูแลโดยบริษัทของสหรัฐ และบุคลากรที่เป็นชาวอเมริกัน” นายโจกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า

"รัฐบาลจีนไม่เคยขอข้อมูลจากติ๊กต็อก ขณะที่ติ๊กต็อกก็ไม่เคยส่งมอบข้อมูลใดๆให้แก่ทางการจีนด้วยเช่นกัน"

TikTok ลงทุนไปแล้วมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 51,079.50 ล้านบาท จัดทำโครงการภายใต้ชื่อ Project Texas รวมกับบริษัทออราเคิลของสหรัฐ ซึ่งตอนนี้โครงการดังกล่าวมีพนักงานประจำเกือบ 1,500 คน เพื่อทำหน้าที่ดูแลข้อมูลของผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงคำถามในประเด็นที่ว่า TikTok ได้เผยแพร่เนื้อหา “ชี้นำไปในทางที่ผิด” ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น การจัดกิจกรรมที่ดูแล้วเข้าข่าย “ท้าทายและบ้าบิ่น” ขณะเดียวกัน ยังมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงเรื่องยาเสพติดและเพศ นายโจวปฏิเสธที่จะตอบ และกล่าวว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่ใช่แนวทางของTikTok 

ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกแถลงการณ์ ซึ่งไม่ได้เอ่ยถึงการเข้าพบคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสของซีอีโอTikTok  แต่มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีของ TikTok ว่า การที่สหรัฐพยายามบีบบังคับให้ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของ TikTok ขายหุ้นที่มีอยู่ใน TikTok  จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในสหรัฐ

พูดง่ายๆ ก็คือ การพยายามบีบบังคับให้ TikTok ขายหุ้นให้กับทางสหรัฐหรือบริษัทอเมริกัน จะดูเป็นการกลั่นแกล้งและบีบบังคับทางธุรกิจโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเสียมากกว่า

การเข้าให้คำชี้แจงต่อสภาคองเกรสของนายโจว ซึ่งเป็นซีอีโอของTikTok นั้น เป้าหมายก็เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยของแอปฯ TikTok และขณะเดียวกันก็พยายามเกลี้ยกล่อมฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐ ให้ละทิ้งความคิดที่ว่า แอปฯ TikTok ที่มีผู้ใช้ในสหรัฐกว่า 150 ล้านคนต่อเดือนนั้น ควรถูกระงับการใช้เนื่องจากทางสหรัฐหวั่นวิตกว่า TikTok จะถูกใช้เป็นเครื่องมือโจรกรรมข้อมูลและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ในทางกลับกัน เขาจะพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายสหรัฐมองเห็นว่า แอปฯTikTok สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องการชี้ให้เห็นว่า ได้มีการทุ่มเงินแล้วกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในโครงการ Project Texas ซึ่งจะคัดแยกข้อมูลผู้ใช้ TikTok ชาวอเมริกันจัดเก็บไว้ภายในประเทศสหรัฐ ภายใต้การดูแลของหน่วยงานความมั่นคงทางข้อมูลสหรัฐ (USDS) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ และภายใต้การกำกับดูแลของออราเคิล (Oracle) บริษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐเอง เพื่อลบล้างประเด็นข้อสงสัยและความไม่ไว้วางใจของฝ่ายสหรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้แอปฯTikTok ด้วย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมานั้น TikTok ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาที่รุนแรงว่า บริษัทได้แบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันให้กับรัฐบาลจีน และว่าแอปฯดังกล่าวล้มเหลวในการปกป้องผู้เยาว์จากอันตรายอย่างเหมาะสม

ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการค้า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐครั้งนี้ มีนางแคธี แม็กมอริส ร็อดเจอร์ ส.ส.จากพรรครีพับลิกัน เป็นประธาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองสหรัฐกล่าวว่า การแบน TikTok อาจสร้างความเสียหายให้กับพรรคเดโมแครต (ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล)ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุน้อย ขณะที่มี ส.ส.จากพรรคเดโมแครต 3 คนรวมตัวกับผู้ใช้TikTok ที่รัฐสภาเมื่อวันพุธ (22 มี.ค.) เพื่อประท้วงข้อเสนอที่จะสั่งห้ามใช้แอปฯ TikTok (ปัจจุบัน ห้ามใช้ในอุปกรณ์สื่อสารของหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น)

ทั้งนี้ เหล่าผู้ใช้แพลตฟอร์มของ TikTok เพื่อสร้างคอนเทนท์ต่างๆ ในโลกออนไลน์ ได้ออกมาชูป้ายประท้วงว่า ขอต่อต้านการแบนTikTok  เพราะแอปฯดังกล่าว มีประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก

สื่อรายงานว่า บริษัทด้านโฆษณาของสหรัฐกำลังเฝ้าจับตามองการพิจารณาคำให้การของนายโจวต่อสภาคองเกรสในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับ TikTok เอง ที่กำลังพยายามสร้างการเติบโตทางธุรกิจนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศยกเลิกการแบนแอปฯนี้โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งบริษัทโฆษณาของสหรัฐที่ใช้แอปฯ TikTok เป็นแพลตฟอร์มในการเข้าถึงผู้คนจำนวนหลายล้านคนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย

โดยรายงานของบริษัทวิจัย Insider Intelligence เปิดเผยว่า รายได้จากโฆษณาของ TikTok ในสหรัฐ คาดว่าจะสูงถึง 6,830 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ (2566) ซึ่งนับว่าสูงขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่บริษัทมีรายได้จากโฆษณาที่ระดับ 780 ล้านดอลลาร์เท่านั้น