สื่อนอกมองไทยยุบสภา-เลือกตั้งเดือนพ.ค. เป็นการชิงชัยของ 2ขั้วสำคัญ

21 มี.ค. 2566 | 01:37 น.

สื่อนอกหลายสำนักรายงานข่าวไทยยุบสภาเพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้ง สะท้อนการชิงชัยระหว่างกลุ่มการเมืองที่มีทหารหนุนหลังกับกลุ่มตระกูลชินวัตรที่ชนะเลือกตั้งตลอด2ทศวรรษ

สื่อนอก หลายสำนักรายงานข่าว การยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่ การเลือกตั้งทั่วประเทศ ในเดือนพ.ค.นี้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มีผลวันที่ 20 มี.ค. เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 - 60 วัน

และแม้จะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่รอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า

รอยเตอร์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการขับเคี่ยวกันอีกครั้งระหว่างกลุ่มตระกูลชินวัตรและเหล่าพันธมิตรที่ชนะการเลือกตั้งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีสองครั้งที่เป็นชัยชนะแบบถล่มทลาย (แลนด์สไลด์)แต่ 3 รัฐบาลจากทางกลุ่มก็ถูกรัฐประหารหรือไม่ก็ถูกศาลตัดสินให้ต้องลงจากอำนาจ การกลับมาครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้นำทัพและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค จากการสำรวจล่าสุดของนิด้าพบว่า เธอได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นสู่ระดับ 38.2% แล้ว ซึ่งถือว่ามากกว่าคู่แข่งที่ใกล้ที่สุดมากกว่าสองเท่า ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วัย 68 ปี ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นอันดับสาม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วัย 68 ปี มาในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ

ด้าน สำนักข่าวเอพี รายงานว่า จากประชากรทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน จะมีคนไทยมากกว่า 52 ล้านคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งทางเอพีระบุว่า นี่จะเป็นการแข่งขันกันของพรรคฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หนุนหลัง และมีนางสาวแพทองธาร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาววัย 36 ปีของทักษิณ เป็นหนึ่งในผู้นำพรรค กับพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพ

เอพีระบุว่า พรรคการเมืองที่มีตระกูลชินวัตรเป็นผู้นำ สามารถชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 แต่ต้องถูกล้มรัฐบาลหลายครั้งทั้งจากการรัฐประหาร คำตัดสินของศาล และกฎหมายเลือกตั้งที่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง

“ถ้าเธอชนะการเลือกตั้ง ก็จะเป็นคนตระกูลชินวัตรคนที่4 ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายในรอบ 2 ทศวรรษ” เอพีระบุ

“ถ้าเธอชนะการเลือกตั้ง ก็จะเป็นคนตระกูลชินวัตรคนที่4 ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายในรอบ 2 ทศวรรษ” เอพีระบุ นอกจากนี้ยังรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเลือกตั้งครั้งนี้มาในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ต่างก็ได้คะแนนสนับสนุนไม่ดีนักในผลการสำรวจ    

ขณะที่สื่อใหญ่จากอังกฤษ บีบีซี รายงานว่า ขณะนี้พรรคการเมืองหลายสิบพรรคได้เริ่มการหาเสียงแล้ว และพื้นที่บนทางเท้าในกรุงเทพฯ ก็ได้หดหายไปเพราะป้ายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วย “คำสัญญา” ที่ให้กับประชาชนได้เข้ามายึดพื้นที่ทางเท้าเรียบร้อยแล้ว

บีบีซีรายงานว่า ในที่สุดแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเดียว คือพรรคเพื่อไทยจะสามารถได้เก้าอี้จำนวนมากพอที่จะสามารถทวงอำนาจกลับคืนมาได้หรือไม่? ซึ่งผลสำรวจเกือบทุกสำนักที่ผ่านมาต่างคาดการณ์ว่า เพื่อไทยจะกลับมาเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดเหมือนที่เป็นมาตลอดการเลือกตั้ง 22 ปีที่ผ่านมา ด้วยเสียงสนับสนุนของประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานที่จงรักภักดีต่อนายทักษิณ ชินวัตร

นางสาวแพทองธารแสดงความเชื่อมั่นว่า เธอจะสามารถนำพรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้แบบแลนด์สไลด์

ด้านสำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า สิ่งที่ยังต้องจับตามองต่อไปคือ กลุ่มชนชั้นนำและกองทัพจะสามารถยอมรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับทักษิณได้หรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเอเอฟพีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็น "การเลือกตั้งที่ส่งผลต่อเนื่องมากที่สุดในช่วงชีวิตของตน" ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าประเทศไทยจะสามารถหลุดออกจากรอยเกวียนเส้นเก่าที่ยากจะเปลี่ยนแปลงและเป็นเช่นนั้นมายาวนานร่วมสองทศวรรษได้แล้วหรือไม่

และหากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถกวาดที่นั่งได้อย่างถล่มทลาย ก็มีโอกาสที่พรรคซึ่งมีทหารหนุนหลังสองพรรคหรือมากกว่านั้น อาจร่วมกันตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้