ยุบสภา เลือกตั้ง 2566 ส.ส.เก่า-ใหม่ ต้องเป็นสมาชิกพรรค 30 วัน 

20 มี.ค. 2566 | 23:30 น.

ฝุ่นตลบ ยุบสภา เลือกตั้ง 2566 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หน้าเก่า-ใหม่ต้องรู้ กกต.กำหนดให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ชัดเจนแล้ว หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศยุบสภาเป็นที่เรียบร้อยโดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้ (20 มีนาคม 2566) สิ่งสำคัญที่เหล่า ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีก่อนจะไปสู่การเลือกตั้งในครั้งหน้า นั่นก็คือ การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 97 ระบุว่า

บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... 

(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน

กล่าวคือ กรณีที่มีการยุบสภาต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ช่องทางการรับสมัครสมาชิกพรรคการเมือง

  • ที่ทำการสำนักงานใหญ่พรรค
  • ที่ทำการสาขาพรรค
  • ที่ทำการตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด (ถ้ามี)
  • กรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

เอกสารการประกอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ที่ยังไม่หมดอายุ)
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติกรณีมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ยืนยันแทนได้
  4. สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

-มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

-มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

-ติดยาเสพติดให้โทษ

-เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

-เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

-อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

-วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

-อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

-ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

-เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้งเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

-เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

-เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

-เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตาม ก.ม.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดตาม ก.ม.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ก.ม.ว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก ก.ม.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ก.ม.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

-เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

-เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี

-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในการใช้งบประมาณรายจ่าย

-อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

-เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

-เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

-อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

-ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น

พรรคการเมือง

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

สำหรับพรรคการเมืองที่ต้องการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดให้ส่งผู้สมัครที่ได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ขั้นตอนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

-คณะกรรมการสรรหา ประกาศ วัน เวลา สถานที่ ในการสมัคร และประกาศให้สมาชิกทราบ

-คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร และส่งให้สาขาหรือตัวแทนของพรรคการเมือง

-สาขาพรรคการเมือง (ไม่น้อยกว่า 100 คน) หรือตัวแทนพรรคฯ (ไม่น้อยกว่า 50 คน) ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

-คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเสนอความเห็นผู้สมัครแต่ละสาขาให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง

-คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สมัคร

-หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองส่งผู้สมัคร (ส.ส. 4/8)

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ให้พรรคการเมืองจัดทําบัญชีรายชื่อส่งให้สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด โดยคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง

ขั้นตอนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

-คณะกรรมการสรรหากําหนด วัน เวลา สถานที่ รับสมัคร/เสนอชื่อบุคคลเป็นผู้สมัคร และแจ้งกรรมการ บริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขา ตัวแทนฯ และประกาศให้สมาชิกทราบ

-กรรมการบริหารพรรคฯ หัวหน้าสาขา ตัวแทนฯ เสนอชื่อให้กรรมการสรรหา

-คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครฯ และจัดทําบัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 รายชื่อ ส่งให้สาขาหรือตัวแทนฯ

-สาขาพรรคการเมือง (ไม่น้อยกว่า 100 คน) หรือตัวแทนพรรคการเมือง (ไม่น้อยกว่า 50 คน) ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

-คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเสนอความเห็น ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

-คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณา ให้ความเห็นชอบตามลําดับที่เหมาะสม

-หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ที่พรรคการเมืองจัดทําขึ้น (ส.ส. 4/21)