รวมสัญลักษณ์ "วันวาเลนไทน์" 2567 จะมอบให้ใครทั้งที ต้องมีความหมาย

29 ม.ค. 2567 | 06:05 น.

14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์ปีนี้ ใกล้เข้ามาทุกที หากอยากได้ไอเดียมอบของขวัญแทนใจให้ใครสักคนเนื่องในวันแห่งความรัก ลองมอบสิ่งที่มีสัญลักษณ์สื่อถึง "ความรัก" และ "ความหวานชื่น" ให้เขาไปด้วย น่าจะเพิ่มความประทับใจได้ไม่น้อย

 

บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งวันวาเลนไทน์”  หรือ "วันแห่งความรัก" ไม่ว่าจะเป็นรูปกามเทพ“คิวปิด” ดอกกุหลาบ รูปหัวใจดวงน้อยช็อกโกแลต หรือแหวนคู่แทนใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนมี ความหมาย หากจะมอบให้ใคร ต้องรู้สตอรี่ที่มากันสักหน่อย นอกจากจะสร้างความประทับใจเพิ่มเติมได้แล้ว ยังสื่อให้ผู้รับได้รู้ว่าของขวัญชิ้นนี้มีความหมายมากมายเพียงใด 

เทพคิวปิด

เริ่มด้วยของขวัญที่มีสัญลักษณ์รูปกามเทพคิวปิด (Cupid) โดยปกติจะเห็นเป็นรูปเทพตัวน้อยมีปีกสีขาว ผมหยักศก แก้มยุ้ย ถือคันธนูและลูกศร เตรียมยิงใส่ให้คนรักกัน เป็นที่มาของคำว่า “ศรรักปักอก” สำหรับคนมีความรักหรือตกหลุมรัก

ภาพวาดเทพคิวปิด โดยศิลปิน Elisabeth-Louise-Vigee-Lebrun ในยุคปลายศตวรรษที่18  

ความจริงเทพคิวปิดไม่ใช่เด็กน้อย แต่เป็นเทพหนุ่มรูปงาม เรื่องราวความรักของเขากับนางไซคี หญิงงามเลอโฉมที่เป็นมนุษย์ อันที่จริงเป็นความรักที่มีทั้งสุขและทุกข์ มีอุปสรรคเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี ปิดฉากแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยบทเรียนความรักที่ว่า

  • รักแท้ย่อมชนะทุกสิ่ง
  • รักแล้วต้องเชื่อใจกัน

ที่เป็นเช่นนั้นมีเรื่องราวว่า เทพคิวปิด หรือ อีรอส (Eros) บุตรชายของเทพีวีนัส (Venus) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามและความรัก เขามีธนูกับลูกศรกามเทพเป็นของวิเศษคู่กาย ไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้าที่ถูกยิงด้วยลูกศรนี้ จะเปี่ยมด้วยความปรารถนาซึ่งควบคุมไม่ได้ วันหนึ่งเทพีวีนัสให้คิวปิด ไปแผลงศรยิงนางไซคี (Psyche) มนุษย์สาวชาวโลกผู้เลอโฉมที่ทำให้ใครๆ ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ จนขนาดที่ลืมถวายบูชาให้แก่เทพวีนัส นางหวังให้ลูกศรของคิวปิดนำพานางไซคีไปหลงรักชายอัปลักษณ์ แต่คิวปิดเมื่อได้ไปเห็นนางไซคี กลับตะลึงในความงามของนางจนเผลอทำลูกศรใส่ตัวเอง ทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกัน

ทุกครั้งที่คิวปิดมาหาไซคีในยามค่ำคืน เขาจะไม่ให้เธอเห็นหน้าตา และพอรุ่งเช้าเขาก็จะหายไป เวลาผ่านไป ทั้งคู่ครองรักกันดีกระทั่งพี่สาวของไซคีมาพูดจายุแยงให้ไซคีลองส่องไฟดูหน้าสามี ว่าเป็นปีศาจร้ายหรือไม่ เหตุใดต้องปิดบังอำพราง

คิวปิดและไซคี "รักแท้ชนะทุกสิ่ง"

 

คืนนั้น ขณะคิวปิดหลับใหล ไซคีถือตะเกียงน้ำมันมาส่องดูหน้าชายคนรัก อีกมือหนึ่งถือมีด เผื่อว่าหากเป็นปีศาจร้าย นางก็จะใช้มีดแทง แต่ปรากฏว่าแสงสว่างของตะเกียงทำให้เห็นคิวปิดเป็นหนุ่มรูปงาม ขณะที่ไซคีกำลังเคลิบเคลิ้มมองนั้น นางได้เผลอทำน้ำมันร้อนจากตะเกียงหยดใส่ไหล่ของคิวปิด เขาสะดุ้งตื่นและกล่าวว่า “ความรักมิอาจอยู่ร่วมกับความหวาดระแวง” ก่อนที่จะบินจากไปอย่างเศร้าสร้อย

ไซคีได้รับคำแนะนำให้ไปบูชาเทพีวีนัส เพราะเป็นมารดาของคิวปิด เผื่อว่าเธอจะมีโอกาสได้พบกับเขาอีก แต่เทพีวีนัสที่ไม่พอใจไซคีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับกลั่นแกล้งเธอด้วยการสั่งให้ไซคีไปทำภารกิจสามอย่างให้สำเร็จ เธอถึงจะมอบสิ่งที่ไซคีขอ แต่สามภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งยากเกินกว่าที่มนุษย์ทั่วไปจะทำได้ หากแต่ด้วยความกล้าหาญและความเพียรพยายามของไซคีที่ต้องการจะพบคนรัก เธอจึงได้รับความช่วยเหลือให้ทำภารกิจได้ลุล่วง (ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือจากคิวปิดที่แอบมาช่วยเธอด้วย)

เมื่อรักแท้ชนะทุกสิ่ง ทั้งคู่ก็ได้ครองรักกัน ไซคียังได้รับน้ำอมฤตที่ทำให้เธอเป็นอมตะ และได้กลายเป็นเทพองค์หนึ่งด้วย ทั้งคู่ครองรักกัน ซึ่งต่อมาไซคีได้ให้กำเนิดบุตรสาว ที่ทั้งคู่ตั้งชื่อให้เธอว่า เพลเชอร์ (Pleasure) ที่แปลว่า “ความสุข” นั่นเอง

กุหลาบบานสีแดง = ฉันรักเธอเข้าแล้ว ความรักแน่นอก อยากบอกให้เธอรู้

ดอกกุหลาบแดง

กุหลาบแดง เป็นดอกไม้ยอดฮิตในเทศกาลวาเลนไทน์  โดยในตำนานเทพเจ้ากรีกและโรมัน “ดอกกุหลาบ” ถูกเชื่อมโยงกับ “วีนัส” เทพีแห่งความงามและความรัก หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “อโฟรไดท์” (Aphrodite)

ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของอโฟรไดท์เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม

นอกจากนี้ สีของกุหลาบ ยังบ่งบอกรูปแบบความรักที่หลากหลาย เช่น สีแดงหรือชมพู หมายความถึงความรักโรแมนติก สีเหลือง คือรักแบบมิตรภาพ ขณะที่สีม่วง คือรักแรกพบ และสีขาว แสดงถึงความรักที่แสนบริสุทธิ์ เป็นต้น

ธรรมเนียมการมอบดอกกุหลาบให้แก่กันในวันวาเลนไทน์นั้น เพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 นี้เอง โดยเกิดขึ้นในช่วงที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน เดินทางไปยังอาณาจักรเปอร์เซียซึ่งเป็นที่ที่พระองค์ได้พบกับศิลปะแนวใหม่ที่เรียกว่า “ภาษาของดอกไม้” ซึ่งเป็นการใช้ดอกไม้แทนคำพูดและความรู้สึกของผู้ให้ สู่ผู้รับนั่นเอง

ช็อกโกแลตยังเป็นสัญลักษณ์ของอาหารที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์รัก

ช็อกโกแลต

ขนมรสหวานขมกลมกล่อมนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการ “บอกรักและความปรารถนาดี” ที่นิยมมอบให้แก่กันในวันวาเลนไทน์ ซึ่งปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดมอบให้เฉพาะคู่รักหรือคนรัก แต่ยังนิยมมอบให้มิตรสหาย และสมาชิกในครอบครัวด้วย โดยช็อกโกแลตนั้น มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 สมัยอาณาจักรโรมันเรืองรอง เนื่องจากในยุคดังกล่าวจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ชายชาวโรมันสมรส เพราะต้องการเกณฑ์ผู้ชายไปสู้รบกับข้าศึกโดยไม่ต้องมีห่วงกังวลใด ๆ ทั้งยังมีโทษ หากใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต ดังนั้น เมื่อใครมีความรักก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ การจะพบเจอกันก็เป็นเรื่องยากลำบาก ดังนั้น จึงนิยมมอบของขวัญแทนใจเพื่อสื่อถึงความรักหวานซึ้งที่มีให้กัน ซึ่งก็คือ ช็อกโกแลต

เรื่องราวข้างต้นนี้ ยังสอดคล้องกับกำเนิดวันเวาเลนไทน์ ซึ่งตำนานเล่าว่า แม้จะมีคำสั่งห้าม แต่ชายหญิงหลายคู่ก็ยังคงลักลอบวิวาห์กัน โดยมีนักบุญที่ชื่อว่า “วาเลนไทน์” ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงานให้ แต่เมื่อภายหลังจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 ทราบเรื่องการฝ่าฝืนนี้ จึงมีคำสั่งประหารชีวิตนักบุญวาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันเป็นที่มาของวันรำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ ก่อนจะกลายมาเป็นวันแห่งความรักในที่สุด

นอกจากนี้ ในโบราณกาล ช็อกโกแลตยังเป็นสัญลักษณ์ของอาหารที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์รัก โดยมีเรื่องเล่าขานว่า “มองเตชูมา” นักรบผู้พิชิตแห่งสเปน มักจะดื่มช็อกโกแลตเป็นประจำเสมอเพื่อให้ช่วยกระตุ้นอารมณ์รักก่อนไปหาเหล่าสาว ๆ ในฮาเร็มของเขา

ต่อมางานวิจัยในยุคสมัยปัจจุบัน ยังพบว่า สารแฟนิลเอทิลามีน (Phenylethylamine-PEA) ในช็อกโกแลต สามารถสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยในการลดความเครียด ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การรับประทานช็อกโกแลตเกิดความรู้สึก feel good ทำให้ตื่นเต้นและรู้สึกดี อีกทั้งยังเพิ่มพลังทางเพศด้วย

เนื่องจากกลิ่นของช็อกโกแลตมีผลต่อปฏิกิริยาความรู้สึกอยากรัก กลิ่นดังกล่าวจะเข้าไปกระตุ้นประสาทรับกลิ่นและความรู้สึกในสมอง จากนั้นร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนออกมากระตุ้นความต้องการทางเพศ ที่สำคัญคือ ช็อกโกแลตมีส่วนผสมของ Theobromine และ Alkaloid ซึ่งมีคุณสมบัติก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของอารมณ์ทางเพศมากเป็นพิเศษ

หัวใจดวงนี้ มอบให้เธอเลยจ้า

รูปหัวใจ

“หัวใจ” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อแทนความรัก เพราะเชื่อกันว่า หัวใจเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้คนเราตกหลุมรักนั่นเอง ดังนั้น การมอบของขวัญที่มีรูปหัวใจดวงน้อย ๆ จึงบ่งบอกถึงความรักของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับในอีกรูปแบบหนึ่ง ( ณ จุดนี้ เสียงเพลง “เอาไปเลย” ของวงไมโครแห่งยุค 90’s ลอยแว่วมาเลยทีเดียว)

แหวน เป็นตัวแทนแห่งความรักและคำมั่นสัญญา

แหวนคู่

เหตุใดคนรักกันจึงต้องหมายหมั้นกันด้วยแหวน แน่นอนว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความรักที่มุ่งหวังครองคู่กันตลอดไป ทั้งยังเป็นคำมั่นสัญญาว่า หัวใจของฉันมอบให้ไว้ในมือเธอแล้ว

แหวนจึงเป็นตัวแทนแห่งความรักและคำมั่นสัญญา เป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุข และความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน การมอบแหวนให้กันในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะที่นิ้วนางข้างซ้ายนั้น แม้ไม่ใช่คู่สามีภรรยา ก็เป็นการบ่งบอกสถานะว่า ผู้ให้และผู้รับนั้น กำลังคบหากันอยู่

แถมความหมายให้อีกนิดว่า เหตุที่สวมแหวนนิ้วนางข้างซ้ายนั้น เพราะเชื่อกันว่า นิ้วนางข้างซ้ายเป็นที่ตั้งของเส้นเลือดแห่งความรัก เส้นเลือดดำที่นิ้วนางมือซ้ายนั้นเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับหัวใจที่อยู่ข้างซ้ายของร่างกายเช่นกัน โดยหัวใจเองก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

รู้ความหมายและที่มาที่ไป กันอย่างนี้แล้ว คงเลือกสรรสิ่งของแทนใจที่จะมอบให้กันในวันวาเลนไทน์นี้ได้ง่ายขึ้น แล้วอย่าลืมกระซิบบอกความหมายให้คนสำคัญคนนั้นของคุณได้รับรู้ด้วยนะคะ

สุขสันต์วันแห่งความรักทุกๆคนเลยนะคะ