IMF ชี้วิกฤตอสังหาฯ เป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจจีน แนะรัฐเร่งแก้ด่วน

06 ก.พ. 2566 | 08:24 น.

IMF ระบุ จีนต้องเร่งแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของ GDP จีน และเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งการเติบโตของจีนในช่วงที่ผ่านมา

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า จีน จำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆมากขึ้นในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ จีน และปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคส่วนนี้ ก็เป็นปัจจัยลบที่คอยถ่วงและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งพาเงินกู้มากเกินไปในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ทางการจีนได้เริ่มผ่อนปรนการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

โดยนายโทมัส เฮลบลิง รองผู้อำนวยการ IMF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ภาคอสังหาริมทรัพย์ครองส่วนแบ่งถึง 1 ใน 4 ของจีดีพีจีน

แม้นโยบายล่าสุดของทางการจีนจะเป็นที่ยอมรับ แต่ในมุมมองของ IMF เห็นว่า จีนยังจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการต่างๆมากกว่านี้อีก เพื่อยุติวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ให้ได้

นายเฮลบลิง รองผู้อำนวยการ IMF ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐว่า หากพิจารณาดูนโยบายที่จีนบังคับใช้นั้น จะพบว่าส่วนใหญ่เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาด้านการเงินสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีสถานะทางการเงินที่ดี ซึ่งนั่นจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

แต่ปัญหา คือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินกลับยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ยังไม่แล้วเสร็จซึ่งมีเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้ถูกพูดถึง

ทั้งนี้ ทางการจีนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้บริษัทเหล่านั้นสร้างอพาร์ตเมนต์ที่เปิดให้จองล่วงหน้าแล้ว ให้สามารถสร้างเสร็จลุล่วง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอย่างเป็นทางการเผยว่า ยอดขายพื้นที่ที่อยู่อาศัยในจีนลดลงเกือบ 27% ในปีที่แล้ว (2565) ในขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง 10%

แบงก์จีนแห่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นการใช้จ่าย

ธนาคารต่าง ๆ ในจีนกำลังพยายามดึงดูดผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่หลากหลาย เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้เรียกร้องให้บรรดาธนาคารกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค เพื่อทำให้วงจรเศรษฐกิจดีขึ้นด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารรายใหญ่ ๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า และธนาคารไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์ กำลังนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษและสิ่งจูงใจต่าง ๆ เช่น กิฟต์การ์ดเพื่อใช้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มากู้สินเชื่อรายย่อย

แต่ถึงแม้บรรดาธนาคารมักจะปล่อยกู้สินเชื่อตั้งแต่ต้นปีอยู่แล้ว แต่การผลักดันการปล่อยสินเชื่อครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นเมื่อจีนเลิกใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจเสียหายและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
 ทั้งนี้ แบงก์ ออฟ ไชน่า สาขามณฑลเจียงซู กำลังนำเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพียง 3.6% ต่อปีจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ขณะที่ธนาคารไชน่า กวงฟา เสนอสินเชื่อรายย่อยที่อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี ลดลงจากระดับ 4.35% ก่อนหน้านี้

หนังสือพิมพ์ซีเคียวริตีส์ เดลี รายงานโดยอ้างอิงตัวเลขการประมาณการของนักวิเคราะห์เมื่อวันพุธ (1 ก.พ.) ว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ ของจีนในเดือนม.ค.นี้ คาดว่าจะเกิน 4 ล้านล้านหยวน (5.93 แสนล้านดอลลาร์) นับเป็นสถิติการปล่อยสินเชื่อรายเดือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์