เหตุผลที่ไทยไม่อยู่ในลิสต์ประเทศที่ได้สิทธิซื้อยาราคาถูกของไฟเซอร์

17 ม.ค. 2566 | 18:12 น.

‘ไฟเซอร์ อิงค์’ บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เสนอขายยาของบริษัทในราคาไม่หวังผลกำไรต่อกลุ่มประเทศรายได้ต่ำทั่วโลกจำนวน 45 ประเทศ ในลิสต์นี้ไม่มีไทย เพราะอะไร

 

ในการเปิด รายชื่อ 45 ประเทศ จากทั่วโลกที่ได้ สิทธิในการซื้อยาราคาถูกของไฟเซอร์ เมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) ปรากฏว่าทั้งหมดเป็นประเทศใน กลุ่มประเทศ “รายได้ต่ำ” จึงแน่นอนว่าในนี้ไม่มีชื่อ ประเทศไทย รวมอยู่ด้วย

ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเสนอขายยาของบริษัทในราคาที่ไม่หวังผลกำไรต่อกลุ่มประเทศรายได้ต่ำทั่วโลกจำนวน 45 ประเทศ โดยไฟเซอร์ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ยาจำนวน 500 รายการที่อยู่ในโครงการ "An Accord for a Healthier World" จะถูกตั้งราคาที่ไม่หวังผลกำไรเพื่อสนับสนุนให้ประเทศยากจนที่สุดของโลกสามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์

 

นายอัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ แถลงเรื่องนี้ขณะเข้าร่วมงาน WEF ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ไฟเซอร์ได้เริ่มก่อตั้งโครงการนี้ ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา (2565) ซึ่งขณะนั้นมีเพียงผลิตภัณฑ์ยาที่มีสิทธิบัตรเท่านั้นที่รวมอยู่ในโครงการ รวมถึงยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 และยา Ibrance ที่เป็นยารักษาโรคมะเร็งเต้านม

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่เพียง 3 ประเทศที่อยู่ในโครงการดังกล่าว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ส่วนไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว

และสำหรับ รายชื่อ 45 ประเทศที่อยู่ในโครงการ "An Accord for a Healthier World" ของไฟเซอร์ นั้นประกอบด้วย (เรียงตามลำดับอักษรในภาษาอังกฤษ)

  1. อัฟกานิสถาน
  2. บังคลาเทศ
  3. เบนิน
  4. เบอร์กินาฟาโซ
  5. บุรุนดี
  6. กัมพูชา
  7. สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
  8. ชาด
  9. โคโมรอส
  10. คองโก
  11. เอริเทรีย
  12. เอธิโอเปีย
  13. แกมเบีย
  14. กานา
  15. กินี
  16. กินี-บิสเซา
  17. เฮติ
  18. เคนยา
  19. เคอร์จิกิสถาน
  20. สปป.ลาว
  21. ไลบีเรีย
  22. มาดากัสการ์
  23. มาลาวี
  24. มาลี
  25. มอริทาเนีย
  26. โมซัมบิก
  27. เมียนมา
  28. เนปาล
  29. ไนเจอร์
  30. เกาหลีเหนือ
  31. รวันดา
  32. เซเนกัล
  33. เซียรา ลีโอน
  34. หมู่เกาะโซโลมอน
  35. โซมาเลีย
  36. ซูดานใต้
  37. ซูดาน
  38. ซีเรีย
  39. ทาจิกิสถาน
  40. แทนซาเนีย
  41. โตโก
  42. ยูกันดา
  43. เยเมน
  44. แซมเบีย
  45. ซิมบับเว  

ในจำนวนทั้งหมด 45 ประเทศนี้ มี 27 ประเทศจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ส่วนอีก 18 ประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ 

ยาราคาเท่าทุนของไฟเซอร์มุ่งหน้าสู่ประเทศรวันดาในแอฟริกา

'ไทย' ไม่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ จึงไม่ได้สิทธิ์

ปัจจุบัน ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จัดกลุ่มประเทศต่างๆ ตามระดับรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อหัว หรือที่เรียกว่า GNI per Capita ไว้ 4 กลุ่ม คือ

1) ประเทศรายได้ต่ำ (Low-income) ต่ำกว่า 1,035 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

2) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower-middle-income) 1,036-4,045 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

3) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper-middle-income) 4,046-12,535 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

4) ประเทศรายได้สูง (High-income) 12,536 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีขึ้นไป

ตั้งแต่ปี 2562 ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ประเทศไทยมี GNI per Capita อยู่ที่ 7,260 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ขณะที่ปี 2565 รายได้ต่อหัวของคนไทยมีการขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 7,449 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.7 แสนบาทต่อคน นับเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน 9 ประเทศ คือรองจาก บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

ข้อมูลอ้างอิง