เปิดวาระร้อน-ปัจจัยเสี่ยง โลกร่วมถกหาทางรับมือบนเวที WEF 2023

15 ม.ค. 2566 | 17:10 น.

เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม กำลังจะเริ่มขึ้นวันนี้ (16 ม.ค.) ผู้นำด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี จะร่วมกันหาทางออกให้กับวาระร้อนที่เป็นทั้งความเสี่ยงและความท้าทาย

 

เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (World Economic Forum : WEF) เวทีงานประชุมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดเวทีหนึ่งของโลกประจำปี 2023 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในวันจันทร์นี้ (16 ม.ค.) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือตรงกับเวลาประมาณ 19.00 น.ตามเวลาไทย

ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่งานจะเริ่มขึ้น WEF ได้เปิดเผย รายงานว่าด้วยความเสี่ยงของโลก (Global Risk Report) ซึ่งเป็นผลการสำรวจเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลก เนื้อหาหลักของรายงานระบุว่า ขณะที่ปัญหาวิกฤตโลกร้อนยังคงเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว แต่ “วิกฤตเงินเฟ้อ” ที่ส่งผลทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพที่ราคาสินค้า อาหาร และพลังงาน มีราคาพุ่งสูงขึ้นจนน่าวิตก และยังกระทบต่อหนี้สินของประเทศต่างๆ อย่างรุนแรงในขณะนี้ ได้กลายมาเป็นวิกฤตในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบต่อความพยายามในการร่วมมือแก้ไขและรับมือกับปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่สาหัสขึ้นทุกปี

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นความท้าทายระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลกและเป็นสิ่งที่โลกเตรียมรับมือน้อยที่สุด กำลังจะถูกปัญหาอื่นที่เป็นความท้าทายเฉพาะหน้า คือวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ช่วงชิงความสนใจและสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาไปก่อน แน่นอนว่า การระดมพลังสมองและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งของผู้นำรัฐบาลและผู้นำองค์กรธุรกิจเอกชนรวมเกือบ 2,000 คนในงานประชุม WEF ครั้งนี้ จะมุ่งเน้นคลี่คลายและหาทางออกให้กับความท้าทายดังกล่าว

เมืองดาวอส พร้อมเปิดเวทีเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ประจำปี 2023 แล้ว

 

รายงาน Global Risk Report เป็นรายงานที่จัดทำโดย WEF ร่วมกับบริษัท มาร์ช แมคเลนแนน (Marsh McLennan) และบริษัท ซูริค อินชัวรันซ์ กรุ๊ป (Zurich Insurance Group) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยระดับโลก

จากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง ผู้นำอุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบายจำนวน 1,200 คน รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษหน้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่ ความท้าทายเฉพาะหน้าในเวลานี้ คือวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพ “แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก แต่บรรดาผู้นำโลกก็จำเป็นต้องเร่งมือแก้ไขและจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อและสินค้าราคาแพงก่อน ทำให้ต้องก้มหน้ายอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ชี้ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวลานี้ขาดการลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

นอกจากนี้ รายงานของ WEF ยังเตือนว่า การค้า-การลงทุนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับรัฐบาลนานาประเทศที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

 

การกลับมาของความเสี่ยงเดิม ๆ

คาโรลินา คลินท์ ผู้จัดการด้านการบริหารความเสี่ยงประจำภูมิภาคยุโรปของบริษัทมาร์ช แมคเลนแนน ให้ความเห็นว่า โลกได้มองเห็นการกลับมาของความเสี่ยงเดิม ๆ ที่ทั่วโลกเคยมีความคืบหน้าที่ดีในแง่ของการแก้ปัญหา จนไม่น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องกังวลอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้กลับมาอยู่ในแผนที่ความเสี่ยงอย่างมากอีกครั้ง

จากความท้าทายในระยะยาวของโลก 10 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า 4 อันดับแรกเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ได้แก่

  • ความล้มเหลวในการจำกัดหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรง
  • การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • และการล่มสลายของระบบนิเวศ

ส่วนความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น คือการผลักดันให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งกำลังมีช่องว่างระหว่างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ กับการสร้างความพึงพอใจเพื่อผลทางการเมือง 

“นานาประเทศจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างแนวโน้มความเสี่ยงในระยะสั้นกับแนวโน้มความเสี่ยงในระยะยาวให้ดีขึ้น โดยตอนนี้ทั่วโลกอาจจำเป็นต้องตัดสินใจในสิ่งที่อาจรู้สึกขัดกับสัญชาตญาณ และเป็นการตัดสินใจที่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาเพิ่มเติม แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน” คลินท์กล่าว  

 

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เคยร่วมประชุม WEF ทางออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว และปีนี้เขาจะกลับมาอีกผ่านช่องทางเดิม

บทสรุปของรายงาน Global Risk Report มีขึ้นหลังจากครบวาระเกือบๆ 1 ปีที่คำมั่นสัญญาหลายข้อในการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกละทิ้งไปในช่วงวิกฤตพลังงานที่เกิดจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ขณะที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) ได้ประเมินความสูญเสียของบรรดาผู้ประกันตนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

 

วิกฤตเฉพาะหน้าที่โลกต้องหาทางรับมือ

ส่วนความท้าทายอันดับต้นๆ ในระยะสั้นอีก 2 ปีข้างหน้า คือ

  • วิกฤตค่าครองชีพที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด
  • และสงครามของรัสเซียในยูเครนซึ่งทำให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของบรรดาครัวเรือนทั่วโลก

 

เหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน คือยุคใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่แสนมืดมน

รายงานของ WEF ระบุว่า รัฐบาลและธนาคารกลางนานาประเทศจะเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือการใช้จ่ายเงินเพื่อป้องกันประชาชนจากผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็อาจเพิ่มระดับหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้ว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ รายงานยังระบุถึงกระแสอโลกาภิวัตน์ หรือ De-globalization กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าการลงทุนทั่วโลก

หลังจากที่สงครามในยูเครนเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาจากการที่ยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ในขณะที่การขาดแคลนไมโครชิปในช่วงโควิดระบาดทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบซัพพลายเชนของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย

รายงานของ WEF คาดการณ์ว่า สงครามทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นบรรทัดฐานปกติท่ามกลางความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมหาอำนาจระดับโลกใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงรับในการลดการพึ่งพาคู่แข่ง ควบคู่กับนโยบายเชิงรุกเพื่อจำกัดการเติบโตของประเทศคู่แข่ง

ปัจจัยที่น่ากังวลอีกประการที่รายงานของ WEF นำเสนอคือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังกลายเป็นความแตกแยกทางการเมือง แนวคิดประชาธิปไตยกำลังโดนบั่นทอน เพราะความเห็นต่างในเรื่องของการอพยพลี้ภัย การโยกย้ายถิ่นฐาน สิทธิทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ ศาสนา การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยชนวนที่ทำให้เกิดความเห็นต่างคือ การจงใจให้ข้อมูลผิดๆ หรือการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่พยายามเผยแพร่ความเชื่อแบบสุดโต่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกประการคืออาชญากรรมทางไซเบอร์ และความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกิดจากบริการสาธารณะที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น ระบบขนส่ง การเงิน และระบบประปา ซึ่งเสี่ยงต่อการหยุดชะงักในกรณีที่เกิดการโจมตีทางออนไลน์

รายงานฉบับนี้ของ WEF ยังระบุว่า ในขณะที่การแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในด้านต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์  (AI) ควอนตัมคอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีชีวภาพ จะเสนอแนวทางแก้ไขบางส่วนสำหรับบางวิกฤต แต่ก็อาจส่งผลให้ขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้นด้วย เพราะประเทศยากจนไม่สามารถจ่ายค่าเทคโนโลยีราคาสูงเหล่านั้นได้

ดังนั้น ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน และทำให้การพัฒนามนุษย์ถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ

เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ รวบรวมไว้ในรายงานของ WEF และแน่นอนว่า ประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงและความท้าทายเหล่านี้ จะกลายมาเป็นหัวข้อการหารือบนเวทีการประชุม WEF ที่กำลังจะเกิดขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์นี้ (16-20 ม.ค.)