"ปูติน" สั่งแบนส่งออกน้ำมัน เช็คบิลประเทศที่กดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

28 ธ.ค. 2565 | 04:05 น.

ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาห้ามการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคาร (27 ธ.ค.) ห้ามการจัดส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมในการ กำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซีย

 

คำสั่งในกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 ถึงวันที่ 1 ก.ค.2566 โดยรัสเซียจะห้ามส่งออกน้ำมันดิบต่อบรรดาประเทศดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 เป็นต้นไป ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันจะมีการกำหนดเวลาหลังจากนั้น

 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่ได้บรรลุข้อตกลงในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปใช้สนับสนุนการทำสงครามในยูเครนนั้น ได้แก่

 

  • กลุ่มประเทศ G7 สมาชิก 7 ประเทศ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี และแคนาดา
  • สหภาพยุโรป (อียู) สมาชิก 27 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม โครเอเชีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย สโลวะเกีย โรมาเนีย และบัลแกเรีย
  • ออสเตรเลีย

 

การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็น “มาตรการลงโทษ” ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

 

ภายใต้มาตการลงโทษรัสเซียด้วยการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน ส่งผลให้สถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้

 

และนั่นเป็นที่มาของการแสดงท่าทีตอบโต้อย่างแข็งกร้าวล่าสุดของปธน.ปูติน

 

ประเทศไหนบ้างที่นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย ( ณ มิ.ย.2565)

 

การกดราคาน้ำมัน อาจทำให้รัสเซียขาดดุลเพิ่มในปี 66

นายแอนตัน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีคลังของรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียอาจขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่วางแผนไว้ที่ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 เนื่องจากการจำกัดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง นับเป็นปัญหาทางการคลังพิเศษของรัสเซียหลังใช้เงินไปอย่างมากในการทำสงครามในยูเครน

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  รัสเซียระบุว่า การจำกัดเพดานราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันมันดิบและน้ำมันกลั่นของรัสเซียอาจทำให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลง 5-7% ในต้นปีหน้า (2566) อย่างไรก็ตาม เขาให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามภาระผูกพันในการใช้จ่าย โดยจะใช้เงินจากการกู้ยืมและกองทุนสะสมฉุกเฉินตามความจำเป็น

 

นายซิลูอานอฟระบุว่า อาจมีการปรับลดปริมาณการส่งออกพลังงาน เนื่องจากบางประเทศกีดกันรัสเซีย และรัสเซียพยายามมองหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะกำหนดผลตอบแทนการส่งออกของรัสเซีย

 

หากปริมาณส่งออกลดลง รัสเซียจะมีเงินทุนเพิ่มเติมจาก 2 แหล่ง ได้แก่ การกู้ยืมเงิน และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (NWF) ซึ่งสะสมเงินสำรองของรัฐไว้

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียกู้ยืมเงินจำนวนมากในไตรมาสปัจจุบันหลังขาดแคลนเงินทุนมาเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากการตัดสินใจส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน รัสเซียคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้านรูเบิล (29,240 ล้านดอลลาร์) จาก NWF ในปี 2565 เนื่องจากการใช้จ่ายทั้งหมดเกิน 30 ล้านล้านรูเบิล ซึ่งมากกว่าแผนเบื้องต้นของปีนี้แล้ว