"อีลอน มัสก์" ในวิกฤติ CEO หลังสมาชิกทวิตเตอร์โหวตไล่พ้นตำแหน่ง

20 ธ.ค. 2565 | 01:18 น.

เก้าอี้ซีอีโอของนายอีลอน มัสก์ โยกแรง เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากลงมติให้เขาลาออกจากตำแหน่งซีอีโอบริษัททวิตเตอร์ หลังจากที่ตัวเขาเองเป็นคนเปิดโหวต!

 

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ จำนวนมากลงมติให้ นายอีลอน มัสก์ ลาออกจากตำแหน่ง ซีอีโอของบริษัททวิตเตอร์ วานนี้ (19 ธ.ค.) หลังจากที่นายมัสก์เปิดโอกาสให้สมาชิกโหวตแสดงความเห็นว่าเขาควรอยู่ในตำแหน่งหรือไม่

 

นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ระดับโลก ที่เพิ่งได้ครอบครองบริษัททวิตเตอร์ สื่อโซเชียลมีเดียชื่อดังด้วยเงินลงทุนกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ได้จัดทำการสำรวจเมื่อวันจันทร์ (19 ธ.ค.) โดยยืนยันว่าเขาจะปฏิบัติตามผลการโหวตของสมาชิกทวิตเตอร์ ซึ่งผลการสำรวจที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นมากกว่า 17.5 ล้านคน พบว่า

  • 57.5% ของผู้ใช้บริการทวิตเตอร์ ลงมติให้นายมัสก์ “ลาออกจากตำแหน่ง”
  • 42.5% หนุนให้เขา “อยู่ในตำแหน่งต่อไป”

 

หลังจากที่ปิดดีลซื้อกิจการทวิตเตอร์ปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา "อีลอน มัสก์" ก็นำมาซึ่งความปั่นป่วนนานัปการ

นายมัสก์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าเขาจะลาออกเมื่อใด หากผลการโหวตชี้ว่าเขาควรลาออกจากตำแหน่งซีอีโอทวิตเตอร์ สื่อต่างประเทศรายงานว่า เมื่อผลการโหวตออกมาแล้วดังกล่าวข้างต้น นายมัสก์ก็ยังคงไม่แสดงท่าทีใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาหุ้นบริษัทเทสลาที่เขาก่อตั้งและเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารพุ่งขึ้นทันทีก่อนเปิดตลาด

 

โดยราคาหุ้นของบริษัทเทสลา อิงค์ พุ่งขึ้น 3.04% สู่ระดับ 154.80 ดอลลาร์ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวานนี้ (19 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ซึ่งตรงกับเวลา 20.04 น.ตามเวลาไทย) หลังมีรายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ลงมติให้นายมัสก์ ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัททวิตเตอร์

 

"หากนายมัสก์ออกจากตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์จะถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นของเทสลา เพราะมัสก์คือเทสลา และเทสลาคือมัสก์" นายแดน ไอเวส นักวิเคราะห์จาก Wedbush กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นเทสลาดิ่งลงเกือบ 60% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ท่ามกลางปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

 

อีลอน มัสก์ ผิดอะไร ทำไมต้องไล่

ย้อนกลับไปหลายเดือนนับตั้งแต่มีข่าวสะพัดว่า นายอีลอน มัสก์ มีความสนใจจะซื้อกิจการทวิตเตอร์ ก็มีสารพัดปัญหาเกี่ยวกับดีลดังกล่าวออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการมีข่าวเชิงลบเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายมัสก์ทำท่ากลับลำว่าจะยกเลิกข้อเสนอการซื้อกิจการทวิตเตอร์ โดยขณะนั้นนายมัสก์ให้เหตุผลว่า ทวิตเตอร์ทำผิดเงื่อนไขในข้อตกลง ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอมได้ จนตอนนั้น บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ต้องออกมาขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหากนายมัสก์ล้มดีลการซื้อกิจการทวิตเตอร์

 

ต้นเดือนตุลาคมก่อนที่จะถึงกำหนดขึ้นศาลในวันที่ 17 ตุลาคม อีลอน มัสก์ ตัดสินใจกลับลำอีกครั้ง หันมาเดินหน้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ในราคาเดิมหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้หุ้น TWTR ของบริษัททวิตเตอร์มีราคาปิดตลาดสูงขึ้น 22% และในที่สุดมัสก์ก็ปิดดีลซื้อทวิตเตอร์เป็นที่เรียบร้อยปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา

 

นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ราคาที่นายมัสก์จ่ายให้กับทวิตเตอร์นั้นสูงเกินไป เนื่องจากมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีจำนวนมากกำลังปรับลดลง และทวิตเตอร์เองก็กำลังพยายามดิ้นรนเพื่อดึงดูดผู้ใช้และเพิ่มความเติบโตของบริษัท โดยบริษัทมีผลประกอบการดังนี้

ไตรมาส1/2565

  • รายได้รวม 1,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • จำนวนผู้ใช้งานรายวัน 229.0 ล้านบัญชี

 

ไตรมาส 2/2565

  • รายได้รวม 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • จำนวนผู้ใช้บริการรายวัน 237.8 ล้านบัญชี

 

หลังเข้าครอบครองกิจการทวิตเตอร์ สิ่งที่อีลอน มัสก์ ทำทันทีคือการปลดผู้บริหารระดับสูงหลายรายของทวิตเตอร์ออกทันทีแบบสายฟ้าแลบ ประกอบด้วยนายปารัก อักราวัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) นายเน็ด เซกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) และนายวิจายา แกดเด หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและนโยบาย เหตุผลที่ปลดคือ ทั้งสามคนมีส่วนในการปกปิดตัวเลขบัญชีผู้ใช้ปลอมบนทวิตเตอร์

 

หลังจากนั้น มัสก์ยังประกาศปลดพนักงานของบริษัทออกครึ่งหนึ่งต้นเดือนพ.ย. เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับทวิตเตอร์ มีข่าวออกมาก่อนหน้านั้นว่า มัสก์ต้องการปลดพนักงานของทวิตเตอร์ออกถึง 75% แต่เขาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

 

พนักงานบางส่วนที่เหลืออยู่ ยังถูกสั่งให้ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการทำงานทั่วไปในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

นั่นเป็นส่วนของการลดรายจ่ายที่มีผลต่อพนักงานของทวิตเตอร์เอง แต่ในอีกด้านคือการเพิ่มรายรับซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสมาชิกผู้ใช้บริการทวิตเตอร์นั้น

  • อีลอน มัสก์ นำเสนอการเก็บค่าใช้จ่ายจากส่วนต่างๆ เพื่อหารายได้เพิ่ม อาทิ การจะปรับเพิ่มราคาทวิตเตอร์บลู (Twitter Blue) ซึ่งเป็นระบบสมาชิกที่มีฟีเจอร์พิเศษมากกว่าแบบปกติ
  • การเก็บค่ายืนยันตัวตน (Verified) เพื่อคงสถานะเครื่องหมายถูกสีฟ้าที่มีอยู่หลังชื่อของบัญชีทวิตเตอร์ เป็นจำนวน 8 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อคงสถานะไว้ พร้อมกับสิทธิพิเศษในฟีเจอร์ต่างๆ มากขึ้น และยังมีแผนที่จะปรับปุ่มแก้ไขทวีต (Edit Botton) ให้กับผู้ใช้ทุกคนด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความไม่แน่นอนและความปั่นป่วน ทำให้เอเจนซี่ยักษ์ใหญ่บางราย อาทิ Interpublic Group และ IPG Media Brands ต้องออกมาเตือนให้แบรนด์ต่าง ๆ หยุดลงโฆษณาบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อรอดูสถานการณ์

 

ล่าสุด ทวิตเตอร์ระงับบัญชีของสื่อหรือนักข่าวหลายรายที่ใช้ทวิตเตอร์ระบุเส้นทางการบินของเครื่องบินเจ็ตของอีลอน มัสก์ เรื่องนี้ตกเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามัสก์ใช้อำนาจในมือจัดการกับสมาชิกผู้ถือบัญชีทวิตเตอร์ ทำให้คณะกรรมการสหภาพยุโรป (อียู) ด้านค่านิยมและความโปร่งใส ต้องออกมาส่งเสียงเตือนว่า อียูอาจจะต้องคว่ำบาตรทวิตเตอร์ หากมีการบั่นทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

“อีลอน มัสก์ ควรทราบในเรื่องนี้ มันคือเส้นตายที่ห้ามล่วงล้ำ และอาจตามด้วยมาตรการคว่ำบาตรในทันที ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยการให้บริการดิจิทัล มีกำหนดเริ่มใช้ในฤดูร้อนปีหน้า และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2024” เวรา โจโรวา คณะกรรมการด้านค่านิยมและความโปร่งใสของสหภาพยุโรป (อียู) เขียนบนทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ธ.ค.)

 

อนาคตของทวิตเตอร์ในมือของอีลอน มัสก์ จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่เผ็ดร้อน เขาจะนำพาทวิตเตอร์ไปในทิศทางใด และจะ “ลาออก” ตามผลการโหวตตามที่ลั่นวาจาไว้แล้วจริงหรือไม่ คงมีคำตอบในเร็วๆนี้