รู้จัก ‘เทคโนโลยีต่อต้านโดรน’ ระบบคุ้มกันภัยทางอากาศสุดไฮเทค

01 ธ.ค. 2565 | 01:00 น.

อุตสาหกรรมโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) โตขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีโดรนก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ต้องมีการพัฒนา ‘เทคโนโลยีต่อต้านโดรน’ เกิดขึ้นตามมา  

 

เทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "เทคโนโลยีต่อต้านโดรน" เกิดขึ้นหลังจากที่ อุตสาหกรรมโดรน เติบโตขึ้นมากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโดรนเชิงพาณิชย์ โดรนทางการทหาร หรือว่าโดรนสำหรับบุคคลทั่วไป ความนิยมใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ส่งผลให้ความกังวลด้านความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่น สนามบิน เรือนจำ และโครงข่ายไฟฟ้า ที่อาจตกเป็นเป้าหมายของ ‘โดรนที่เป็นอันตราย

 

ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จึงจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาความสามารถในการระบุและจัดการภัยคุกคาม เพื่อรับมือกับโดรนที่ไม่เป็นมิตรเหล่านี้

 

ความนิยมใช้โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน

 

หนึ่งในตัวอย่างภัยคุกคามจากโดรน เกิดขึ้นในปี 2013 ขณะที่นางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้น กำลังร่วมงานที่จัดกลางแจ้ง ปรากฏว่า มีโดรนที่บินอยู่เหนือศีรษะตกดิ่งลงในระยะใกล้กับตัวของเธอ จนทำให้งานที่ดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงักโดยทันที

 

แมร์รี่ ลู สโมลเดอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดจากบริษัท Dedrone อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “มันไม่มีอะไรมากนัก เป็นเพียงโดรนที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ”

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะไม่ก่ออันตราย แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย เมื่อโดรนที่เป็นอากาศยานไร้คนขับ ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่เสี่ยง กรณีดังกล่าว ได้กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งบริษัท Dedrone ที่ปัจจุบันเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีในการรับมือโดรน หรือเทคโยโลยีต่อต้านโดรน ที่มีลูกค้าหลายร้อยราย จากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก

 

วิธีหลักที่ใช้ตรวจจับโดรน คือการใช้เซ็นเซอร์เพื่อจำแนกสัญญาณความถี่วิทยุ

 

สโมลเดอร์ อธิบายกลไกการทำงานของเทคโนโลยีต่อต้านโดรนนี้ว่า วิธีหลักที่ใช้ตรวจจับโดรน คือการใช้เซ็นเซอร์เพื่อจำแนกสัญญาณความถี่วิทยุ

 

เราลองมาดูจำลองเหตุการณ์ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวทำอะไรได้บ้าง

  • ลูกค้าของบริษัท Dedrone ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เฝ้าระวังโดรน จะได้รับการแจ้งเตือนจากทีมรักษาความปลอดภัยเมื่อระบบตรวจพบว่ามีโดรนต้องสงสัยบินเข้ามาสู่น่านฟ้า
  • หากโดรนลำดังกล่าวมีท่าทีที่เข้าข่ายเป็นอันตราย เครื่องมือเฝ้าติดตามของบริษัทจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาตำแหน่งของบุคคลที่ควบคุมโดรนเพื่อที่จะทำการสื่อสารโดยตรง
  • แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรง เช่น ภาวะสงคราม ลูกค้าสามารถที่จะทำให้โดรนหยุดบินได้ โดยใช้ปืนยาวเพื่อยิงคลื่นรบกวนและบังคับให้โดรนร่อนลงอัตโนมัติ

 

จอห์น เคนอจ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีด้านการป้องกันจากบริษัท Dedrone อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์คล้ายปืนยาวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า “โดรนดีเฟนเดอร์” (DroneDefender) เป็นตัวส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ การใช้งานคือเล็งเป้าไปที่โดรนที่บินเข้ามาในน่านฟ้า เลือกโหมดการควบคุม และทำการเหนี่ยวไก วิธีการนี้จะเข้าไปรบกวนสัญญาณระหว่างโดรนกับตัวบังคับ

โดรนทางการทหารมีบทบาทมากขึ้นในสงครามยุคใหม่

 

เมื่อการใช้งานโดรนเติบโตมากขึ้น ความพยายามที่จะป้องกันผู้ไม่หวังดีจำนวนหนึ่งที่พยายามจะใช้งานโดรนในทางที่ผิดก็มากขึ้นตามไปด้วย

 

มิเรียม แมคนาบ บรรณาธิการจากเว็บไซต์ Dronelife.com เปิดเผยว่า โลกต้องการเทคโนโลยีระบบต่อต้านโดรนในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์เติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว

 

ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญมองว่า เมื่ออุตสาหกรรมโดรนเติบโตรุดหน้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ ก็จะต้องเติบโตควบคู่กันไป