10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (จบ)

24 พ.ย. 2565 | 04:26 น.

10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3838

 

คุยกันมาต่อเนื่องหลายตอน วันนี้ผมจะขอเสนอบทส่งท้ายของความสำเร็จในมิติอื่นที่เหลืออยู่ แต่มีความสำคัญยิ่งของจีน ...


9. ความกว้างของจีน (China Breadth) ความสำเร็จของจีนในมิติ “ความกว้าง” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายังมีตัวอย่างให้เห็นในจีน และหลายประเทศทั่วโลก เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้เกิดเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่าง “โรงงานของโลก” กับ “ตลาดของโลก” ที่แนบแน่น และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจในวงกว้างยิ่งขึ้น 

 

ผลจากความพยายามในการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ พิธีการศุลกากร และอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนรถไฟที่ให้บริการระหว่างจีนและ 200 หัวเมืองในยุโรปมีเฉลี่ยมากกว่า 40 เที่ยวต่อวัน และจีนยังประสบความสำเร็จในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในอีกหลายประเทศ เช่น ระหว่างบอมบาซา-ไนโรบี และจาการ์ตา-บันดุง เชื่อมเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศเคนยา และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ จีนยังขยายผลในส่วนของ “เศรษฐกิจสีคราม” (Blue Economy) อย่างมากมาย อาทิ การสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสะพานข้ามและอุโมงค์ใต้ทะเล อาทิ การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลแห่งแรกในประเทศมัลดีฟ


อีกโครงการหนึ่งที่ได้รับชื่อเสียงอย่างมากก็ได้แก่ การก่อสร้างสะพานเปเลซัช (Peljesac Bridge) ในโครเอเชีย ประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป โดยเมื่อราว 4 ปีก่อน กิจการของจีน ซึ่งนำโดยบริษัทถนนและสะพานแห่งชาติจีน (China Road and Bridge Company) ได้ชนะการประมูลงานในโครงการนี้

 

สะพานแห่งนี้มีความสำคัญหลายประการ อาทิ การเป็น “สะพานขึง” ข้ามทะเลที่มีความกว้าง 22.5 เมตร ยาว 2,440 เมตร หรือเกือบ 2 กิโลเมตรครึ่ง และสูงสุดที่ระดับ 55 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นสะพานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ 

 

ขณะเดียวกัน สะพานแห่งนี้ยังช่วยเชื่อมพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนใต้ของโครเอเชียและพื้นที่ในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ลดระยะทางและเวลาในการเดินทางโดยไม่ต้องไปอ้อมและผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของบอสเนียแอนด์เฮอร์ซิโกวินา ซึ่งช่วยให้การไปมาหาสู่ของผู้คนสะดวกและคล่องตัว และเป็นประโยชน์อย่างมากในมิติเชิงเศรษฐกิจต่อโครเอเชียและประเทศในภูมิภาค อาทิ มอนเตเนโกร แอลเบเนีย และกรีซ 

 

ทั้งนี้ ในพิธีเปิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 นายกรัฐมนตรีของโครเอเชียให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสะพาน และได้กล่าวไว้ว่า “วันนี้ถือเป็นที่พิเศษสุดของโครเอเชีย” ท่ามกลางความยินดีของผู้เข้าร่วมงานและผู้คนในพื้นที่

 

ประการสำคัญ การชนะการประมูลงานในโครงการนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่กิจการของจีน ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการที่ใช้กองทุนของสหภาพยุโรป แถมยังสร้างเสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนดเวลา ซึ่งถือเป็นโครงการเชิงสัญลักษณ์ที่จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในยุคใหม่ และยังประโยชน์แก่ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทางตอนใต้ ในอีกทางหนึ่ง

 

ในด้านการขนส่งทางทะเล สินค้าในมูลค่าเฉลี่ยมากกว่า 73 ล้านหยวนต่อนาทีถูกขนส่งระหว่างจีนกับตลาดโลก ขณะที่กิจการของจีนก็เข้าไปบริหารจัดการท่าเรือจำนวนมากในต่างประเทศ อาทิ คอสโคชิปปิ้ง (Cosco Shipping) สายการเดินเรือของใหญ่ของจีน ก็เข้าไปให้บริหารท่าเรือปิเรอุส (Piraeus) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของกรีซ และนับเป็นหนึ่งในท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน 

 

ในด้านการลงทุน จีนยังออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยภายหลังการเข้าเทคโอเวอร์ของกลุ่มเหอสตีล (He Steel Group) ของจีนเมื่อปี 2016 จีนก็ เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าติดตั้งใหม่ ทำให้โรงงานผลิตเหล็กสเมเดเรโว (Smederevo Steel Mill) แห่งประเทศเซอร์เบีย ก็กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

ผลจากการนี้ ทำให้ “มิตรของจีน” ได้ขยายขอบข่ายไปอย่างกว้างขวาง ทำให้จีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 181 ประเทศ และเป็นพันธมิตรกับกว่า 110 ประเทศ และองค์การระดับภูมิภาค/ระหว่างประเทศกระจายไปทั่วโลก 

 

10. อุณหภูมิของจีน (China Temperature) จีนยังสามารถวัดความสำเร็จผ่าน “อุณหภูมิของการพัฒนา” ที่เกิดขึ้น การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวอย่างที่เราต่างสัมผัสได้อย่างชัดเจน 

 

ตอนที่จีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอก เมื่อราว 40 ปีก่อน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนต่ำกว่าของไทยอยู่มาก คนไทยที่ไปเยือนจีนในยุค 20 ปีแรกหลังการเปิดประเทศ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยเจริญกว่าจีนมาก แต่ความเจริญของจีนก็ขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

                             10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ต่อวาระ 3 (จบ)

ในปี 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าภาพการจัดนิทรรศการโลก หรือเรานิยมเรียกกันว่า “เวิลด์เอ็กซ์โป” จีดีพีของจีนสามารถก้าวแซงของญี่ปุ่น ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับของไทย 

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ คนจีนในชนบทเกือบ 100 ล้านคน มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น จีนสามารถประกาศการหลุดพ้นจากความยากจนอย่างสมบูรณ์ และบรรลุเป้าหมายในศตวรรษแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ขณะเดียวกัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีน ก็ทะยานทะลุหลัก 10,000 เหรียญสหรัฐฯ (ขณะที่ของไทยยังเติบโตอย่างช้าๆ และเกินหลัก 6,000 เหรียญสหรัฐฯ มาเพียงเล็กน้อย) และส่งผลให้จีนก้าวขึ้นเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองปานกลาง 

 

นักเรียนในพื้นที่ชนบทของจีนจำนวน 350 ล้านคน เข้าร่วมในโครงการปรับปรุงโภชนาการ ทำให้ได้รับอาหารที่มีความสมดุลของคุณค่าทางอาหาร 

 

ขณะที่คนกว่า 1,000 ล้านคนก็เข้าถึงประกันสุขภาพพื้นฐาน และราว 1,360 ล้านคน หรือกว่า 95% ของจำนวนประชากรโดยรวมของจีนก็สามารถใช้บริการรักษาพยาบาลพื้นฐานที่สามารถใช้ยาใหม่ที่มีคุณภาพดีขึ้นในราคาที่ลดลง รวมทั้งยังได้รับความสะดวกจากการเรียกเก็บค่าบริการรักษาพยาบาลโดยตรงข้ามมณฑล

 

ขณะเดียวกัน คนจีนที่เกษียณอายุแล้วก็ได้รับเบี้ยประกันสังคมและบริการที่เกี่ยวข้องที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกือบ 37 ล้านคนได้รับเบี้ยคนชรา บริการอุดหนุนสำหรับผู้สูงอายุ และบริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่พิการหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้

 

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังทำให้ความเจริญในด้านวัตถุแผ่ซ่านจากในเมืองสู่ชนบท คนจีนที่อาศัยในแถบเทือกเขาต้าเหลียง (Daliang) ที่ทอดยาวจากเทือกเขาหิมาลัยลงสู่ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน ก็ได้รับอานิสงค์ด้วยเช่นกัน 

 

ผู้อ่านหลายคนอาจได้เคยชมคลิป ที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตามเนินเขาสูงนี้ต้องหอบหิ้วลูกหลานและสัมภาระปีนป่ายบันไดหวายที่ทิ้งดิ่งมาตามหน้าผาสูงชัน ปัจจุบัน บันไดหวายทั้ง 17 ชิ้นดังกล่าวถูกทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น เพราะรัฐบาลจีนได้ก่อสร้างและติดตั้งสะพานเหล็กรวม 2,556 ขั้นเข้ากับหน้าผา เพื่อให้สามารถเดินเท้าเข้าออกหมู่บ้านโดยไม่ต้องเสี่ยงภัยเช่นเดิมอีกต่อไป 

 

“ความอบอุ่น”จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตของชาวจีนดีขึ้นอย่างมาก มาถึงวันนี้ จีนสามารถทำให้ประชากรทุกคนต่าง “กินอิ่ม นอนอุ่น มีหมอ ได้รับการศึกษา และเข้าถึงสวัสดิการ” ที่เหมาะสมกันแล้ว 

 

ความสำเร็จในการพัฒนาของจีนที่กล่าวมาอย่างมากมายนี้เกิดขึ้นในช่วงวาระที่ 1-2 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำของ สี จิ้นผิง ดังนั้น การที่เราจะได้เห็น “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” และความสำเร็จอื่นเกิดขึ้นในวาระที่ 3 และวาระถัดไป จึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันของชาวจีนอย่างแน่นอน ...