10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ไปต่อวาระ 3 (5)

13 พ.ย. 2565 | 02:00 น.

10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ไปต่อวาระ 3 (5) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3835

เล่ามาหลายตอน แต่พึ่งผ่านไปแค่ครึ่งทางของความสำเร็จในการพัฒนาของจีนหลากมิติ และเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา เราไปติดตามดูความสำเร็จในมิติอื่นต่อกันครับ ...


6. ความแข็งแกร่งของจีน (China Strength) สิ่งนี้สะท้อนออกมาในหลายด้าน ท่านผู้อ่านอาจนึกถึง “เขื่อน 3 โตรก” ในบริเวณเขตอี้หลิง (Yiling) มณฑลหูเป่ย ที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปี และได้กลายเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเปิดใช้งานในปี 2003 เป็นอันดับแรกๆ 

แต่หากพิจารณาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็พบว่า จีนได้ทุ่มทุนก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าไป๋เห่อทาน (Baihetan) บนแม่น้ำจินชา (Jinsha) ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียง แถบมณฑลเสฉวน 

 

เขื่อนทรงโค้ง 2 ชั้นขนาดใหญ่ดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และเปิดใช้เมื่อปี 2021 โดยมีความสูงถึง 289 เมตร ฐานมีความหนา 72 เมตร ขณะที่ยอดเขื่อนมีความหนา 13 เมตร และสามารถกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลถึงเกือบ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

เพื่อบริหารจัดการอุปทานและอุปสงค์ด้านพลังงานให้เกิดความสมดุล กระแสไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นจากสถานีดังกล่าวในด้านซีกตะวันตกของจีน ยังถูกส่งไปใช้ในหัวเมืองด้านซีกตะวันออกของจีน ที่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร ซึ่งต้องมีระบบจัดเก็บพลังงานและสายไฟฟ้าแรงสูงที่มีประสิทธิภาพสูง 

 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของระบบนิเวศด้านพลังงาน และการดำเนินงานอย่างบูรณาการเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสีเขียวของจีนอีกด้วย

 

ผมเชื่อว่า ในช่วงหลังนี้ ท่านผู้อ่านคงได้มีโอกาสเห็นภาพการปล่อยจรวดของจีนอยู่บ้าง และที่ไม่ควรพลาดก็ได้แก่ การปล่อยจรวดลองมาร์ชรุ่น 5บี (Long March 5B) ซึ่งถือเป็นจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก จากฐานปล่อยจรวดเหวินชาง (Wenchang) ในมณฑลไห่หนาน ที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศไปพร้อมกับขนส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) ขึ้นไปติดตั้ง

 

ด้วยการเป็นฐานปล่อยจรวดขนาดใหญ่ และทำเลที่ดีที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเพียง 19 องศา รวมทั้งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนพลังสูงของจรวดดังกล่าวที่คนในวงการรู้จักกันในนาม “Fat Five” สามารถแบกรับน้ำหนักขณะพุ่งทะยานของจรวดได้ถึง 850 ตัน และราว 25 ตัน ณ ระดับวงโคจรต่ำ ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจีน

 

บนพื้นผิวโลก จีน โดยกลุ่มรถไฟเป้าเสิน (Baoshen Railway Group) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองจูโจว (Zhuzhou) มณฑลหูหนาน ก็พิสูจน์ความแข็งแกร่งผ่าน “เสิน 24” (Shen 24) รถไฟพลังงานไฟฟ้าที่มีกำลังเครื่องยนต์ถึง 28,800 กิโลวัตต์ ซึ่งนับว่าทรงพลังมากที่สุดในโลกตามคำแปลว่า “พระเจ้า 24” 

 

โดยสามารถวิ่งให้บริการด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลากสินค้าหนัก 10,000 ตันขึ้นเนินที่มีระดับความลาดชัน 12 องศาได้เลยทีเดียว

 

กิจการนี้เป็นธุรกิจในเครือของไชน่าอีเนอร์จี (China Energy) ที่พยายามอัพเกรดรถไฟตัวนี้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยรอบด้านอย่างไม่ลดละ อาทิ ระบบการบังคับอัตโนมัติ และพลังงานสะอาด ส่งผลให้ “เสิน 24” สามารถให้บริการขนส่งได้อย่างอัจฉริยะ ปลอดภัย และดีต่อสิ่งแวดล้อม ได้อย่างราบรื่นในตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

 

แม้กระทั่งด้านการปกครองก็ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจีน การดำเนินนโยบายปฏิรูปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคงในหลายด้าน โดยปัจจุบัน จีนมีกิจการรวมมากกว่า 160 ล้านราย นำไปสู่การจ้างงานเกือบ 300 ล้านคน และกลายเป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่ผ่านมา ก็ไม่อาจรับประกันความราบรื่นของการเดินหน้าปฏิรูปในเชิงลึกและเชิงกว้างของจีนในอนาคตได้ 

 

ภายใต้นโยบายการปฏิรูปดังกล่าว จีนยังต้องครุ่นคิดว่า จะทำอย่างไรกับการเปิดเสรีและพัฒนาพลังงานการผลิตจากภาคประชาสังคม การจัดสรรทรัพยากรที่เปิดกว้าง และการเพิ่มบทบาทของกลไกตลาดในระดับที่มากขึ้น เพื่อลดปัญหาของการบูรณาการ และขยายโอกาส ความมีชีวิตชีวา และพื้นที่ให้กับทุกผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม

 

การปรับปรุงกฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) และกฎระเบียบเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมทั้งการยกเลิกระบบการอนุมัติการลงทุนของต่างชาติเป็นรายกรณี และการกระจายอำนาจให้รัฐบาลระดับจังหวัดของจีนในการขึ้นทะเบียนกิจการต่างชาติ

 

ถ้อยคำที่ สี จิ้นผิง กล่าวไว้เมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาที่ว่า โลกและจีนต่างพึ่งพาระหว่างกัน นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการที่เกรงว่าจีนจะปิดประเทศและพึ่งพาตนเองมากขึ้นในอนาคต ยังสะท้อนว่า จีนตระหนักดีถึงความสำคัญในการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก 
 

ซึ่งนั่นเท่ากับว่า จีนยังต้องเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านพิธีการศุลกากร และการยกระดับเวทีด้านเศรษฐกิจและการค้า อาทิ งานแคนตันแฟร์ (Canton Fair) งานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ (CIIE) งานด้านการค้าบริการ (CIFTIS) และอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนา “กำลังภายใน” จากฐานการผลิตและการบริโภคภายในประเทศเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยุคหน้า

 

นอกจากนี้ จีนยังต้องตัดสินใจในอีกหลายประเด็นใหญ่ อาทิ การปฏิรูปสิทธิ์ในการถือครองของพื้นที่ชนบท การนำร่องระบบที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย การปฏิรูประบบยุติธรรมและนิเวศวิทยา ไปจนถึงการปรับปรุงระบบทะเบียนราษฎร์ การรักษาพยาบาล และสุขภาพ เป็นต้น

 

วาระเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง และนำพาไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่า หนทางการปฏิรูปข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความท้าทาย นั่นหมายความว่า จีนยังมีบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งในอีกหลายด้านในอนาคต

 

วันนี้พื้นที่หมดแล้ว ผมขอยกยอดไปคุยกันต่อในคราวหน้าครับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน