10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ไปต่อวาระ 3 (3)

03 พ.ย. 2565 | 01:19 น.

10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ไปต่อวาระ 3 (3) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3832

นอกเหนือจากความสำเร็จในมิติด้านความสูงและความเร็วแล้ว จีนยังสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาในด้านไหนอีกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราไปติดตามกันต่อเลยครับ ...


3.ขอบข่ายของจีน (Chinese Span) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้สร้างปรากฏการณ์ด้านอวกาศขึ้นมากมาย ยานอวกาศ “ฉางเอ๋อ-4” (Chang’e-4) ได้ร่อนลงจอดที่ด้านมืดของดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ ทั้งที่อยู่ห่างจากโลกถึงราว 380,000 กิโลเมตร

ภายหลังการออกบินสู่ห้วงอวกาศเป็นเวลาเกือบ 300 วัน รวมระยะทาง 400 ล้านกิโลเมตร “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) ได้ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และปล่อยยานลูกลงไปสำรวจพื้นผิวของดาวอังคารเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 ภารกิจในครั้งนั้นยังทำให้จีนได้เก็บรวบรวมหิน ดิน และฝุ่นผงจากพื้นผิวของดาวอังคารจำนวนหนึ่งกลับมาเพื่อศึกษาในเชิงลึกต่อไป

 

ขณะเดียวกัน ในช่วง 10 ปีหลังนี้ จีนยังประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม “ซีเหอ” (Xihe) ซึ่งถือเป็นดาวเทียมสำรวจลมสุริยะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดวงแรกของจีนที่เข้าสู่วงโคจรของดวงอาทิตย์ที่ระดับความสูงเฉลี่ย 517 กิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ ภายใต้ชื่อโครงการ “ลำคอ” (Throat Project) จีนยังได้ก่อสร้างทางด่วน “วู่เวย” (Wuwei) โดยท่อนหนึ่งของเส้นทางดังกล่าวเป็นอุโมงค์เทียนชานเชิ่งลี่ (Tianshan Shengli Tunnel) ความยาว 22.1 กิโลเมตร เมื่อเสร็จสมบูรณ์ อุโมงค์ดังกล่าวจะมีความยาวที่สุดในโลก ขณะที่ทางด่วนดังกล่าวก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของเขตปกครองตนเองซินเจียง บริเวณปลาย “หางไก่” ของจีน


เทือกเขาเทียนชาน (Tianshan) ถือเป็น 1 ใน 7 ของเทือกเขาที่มีพื้นที่ใหญ่และยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยครอบคลุมพื้นที่ในซินเจียง และคาบเกี่ยวไปถึงประเทศคาซักสถาน


การดำเนินกลยุทธ์การพัฒนาบนพื้นฐานของนวัตกรรมอย่างจริงจัง ยังส่งผลให้นวัตกรรมของจีนได้รับการพัฒนาและขยายขอบข่ายอย่างก้าวกระโดด ที่โดดเด่นมากก็ได้แก่ เครื่องบินโดยสารรุ่น C919 ที่ต้องฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคยาวนานถึง 15 ปี กว่าจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองจากองค์การการบินระหว่างประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2022 แน่นอนว่า สิ่งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องบินขนาดใหญ่ และวงการการบินของจีน 


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คุณภาพสินค้าไฮเทคของจีนก็ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ไล่ตั้งแต่รถไฟความเร็วสูง ยานอวกาศ รถยนต์ไร้คนขับ ระบบนำทาง “เป๋ยโต่ว” (Beidou) แอปสื่อสังคมออนไลน์ “วีแชต” (WeChat) เครื่องจักรเครื่องมือหนักขนาดใหญ่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ได้กลายเป็น “ทางเลือก” ของผู้บริโภคจีนและต่างชาติทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันเสมือนอาศัยอยู่ในโลกที่ไร้ขอบเขต 


4. ความแม่นยำของจีน (Chinese Precision) จีนยังประสบความสำเร็จในด้านความแม่นยำของเครื่องมือและอุปกรณ์ยุคใหม่จำนวนมาก ไล่ตั้งแต่ด้านฮาร์ดแวร์ อาทิ ยานอวกาศ และ เครื่องจักรกล ไปจนถึงด้านซอฟท์แวร์ อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน การเพิ่มขึ้นของช่วงชีวิต และการลดมลพิษทางอากาศ

                              10 สุดยอดความสำเร็จของจีน เหตุผลที่ สี จิ้นผิง ได้ไปต่อวาระ 3 (3)

เราเห็นการปล่อยยานอวกาศออกไปท่องโลก ร่อนลงด้านมืดของดวงจันทร์ และลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร รวมทั้งการสร้างและขยายสถานีอวกาศนอกโลก โดยไม่มีข้อผิดพลาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการคำนวณและการบังคับยานอวกาศที่ไกลจากโลกนับล้านกิโลเมตรที่ต้องมี “ความแม่นยำ” แบบสุดๆ จนยากจะจินตนาการ


เครื่องจักรเครื่องมือของจีนที่เคยมีคุณภาพต่ำ ได้ถูกระดับขึ้นเทียบชั้นของผู้ผลิตชั้นนำรายอื่น เครื่องตัดโลหะยุคใหม่มีความแม่นยำระดับ 0.01 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กขนาดเศษ 1 ส่วน 8 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม 


อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อน “ความแม่นยำ” แบบสุดๆ ก็ได้แก่ เครื่องวัดพิกัดภูมิศาสตร์จากนอกโลกที่จีนพัฒนาไปไกลมาก  เวลาเราอยู่ที่พื้นผิวโลก และขีดเขียนเส้นสายที่มีมุมสูงชันแตกต่างเล็กน้อย เราก็อาจไม่รู้สึกอะไร แต่เวลาเราอยู่นอกโลก ความคลาดเคลื่อน 1 องศา อาจหมายถึงระยะห่างจากจุดที่แท้จริงถึงกว่า 100 กิโลเมตร 


ด้วยเหตุนี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จึงซอยย่อยหน่วยองศาลงไป 60 เท่าสู่ระดับ “ลิปดา” (Arcminute) และอีก 60 เท่าสู่ระดับ “ฟิลิปดา”  (Arcsecond) ซึ่งปัจจุบัน เครื่องวัดพิกัดภูมิศาสตร์ของจีนมีความแม่นยำถึงระดับ ± 0.06 ฟิลิปดา หรือคิดเป็นเศษ 1 ส่วน 60,000 ขององศาเท่านั้น

 

สิ่งนี้ทำให้ระบบการนำทาง “เป๋ยโต่ว” สร้างประโยชน์มากมาย อาทิ การค้นหาสถานที่ออนไลน์ การเดินเรือ อากาศ และ อวกาศ แม้กระทั่งการใช้รถยนต์และโดรนไร้คนขับในอนาคต


นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนยังช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ชาวจีนได้กว่า 90 ล้านคน ทำให้จีนสามารถจัดงานฉลองความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีน ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อกลางปี 2021 


ความสำเร็จดังกล่าวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลข้อเท็จจริงและมาตรการที่แม่นยำ ซึ่งครอบคลุม 6 ด้าน หรือ “6 Precisions” ในการดำเนินงาน อันได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย การดำเนินโครงการ การใช้เงินงบประมาณ มาตรการเฉพาะครัวเรือน การมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการบรรลุเป้าหมาย


จีนจึงจัดตั้งทีมงานขนาดใหญ่ที่ใช้คนถึงเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานของรัฐ และอาสาสมัคร “ลงพื้นที่” เข้าไปยังหมู่บ้านและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั่วทุกหัวระแหง เพื่อรวบรวมข้อมูลคนยากจน สาเหตุ ลักษณะเฉพาะ และที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินมาตรการที่เหมาะสม


โดยที่แต่ละครอบครัวที่ถูกประเมินว่า เข้าข่ายว่ามีฐานะยากจน มีจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการจัดการและพัฒนาตนเอง ทำให้ทางการจีนออกแบบให้แต่ละครัวเรือนต้องมีผู้รับผิดชอบหลัก

 

ขณะที่ทีมงานให้ความช่วยเหลือก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อ “รับศึกหลายด้าน” โดยรับผิดชอบต่องานหลักในวันธรรมดาและงานเสริม (การสร้างความกินดีอยู่ดี) ในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดพิเศษ และยังต้องเขียนรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรายสัปดาห์ เพื่อให้ทีมสนับสนุนระดับหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน สามารถติดตามงานได้อย่างรวดเร็ว 


มาตรการความช่วยเหลือดังกล่าว ยังถูกออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกันตามรากเหง้าของปัญหา ไม่ใช่การใช้มาตรการแบบ “One-Size-Fits-All” ซึ่งช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาได้ ด้วยการดำเนินมาตรการที่ “แม่นยำ” อย่างต่อเนื่องในเชิงรุกก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนที่เป็นรูปธรรมในที่สุด 


และทั้งที่ผ่านมายังไม่ถึงครึ่งทางของแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าจีนจะบรรลุอีกหลายเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ อาทิ การเพิ่มขึ้นของช่วงอายุ 1 ปี การลดระดับของค่า PM2.5 ในเมืองระดับจังหวัดหรือใหญ่กว่าลดลง 10% และจำนวนพยาบาลต่อประชากร 1,000 คนเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากจีนปราศจาก “ความแม่นยำ” ในการพัฒนา


กำลังสนุกเลย แต่พื้นที่หมดซะแล้ว ผมขอยกยอดไปเล่าต่อตอนหน้าจะครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน