เปิดใจ "ปูติน" กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน นิวเคลียร์ แบบละเอียด อ่านเลยที่นี่

31 ต.ค. 2565 | 00:29 น.

เปิดใจ "ปูติน" กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน นิวเคลียร์ แบบละเอียด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังให้สัมภาษณ์ พูดคุย และตอบคำถามที่ละเอียดและใช้เวลานานที่สุดครั้งหนึ่งใน Valdai Disscussion Club ที่กรุงมอสโคว์

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

คำตอบของปูตินที่ยาวและละเอียดที่สุด นับตั้งแต่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา ครอบคลุมทั้งเรื่องสงครามนิวเคลียร์ วิธีการยุติความขัดแย้งในยูเครน และการจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ตะวันตกจะต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์หรือสงครามรัสเซีย-ยูเคร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา

 

เราจะเห็นคำให้สัมภาษณ์หรือการแถลงบ่อยครั้ง ของประธานาธิบดีเซเลนสกี้ของยูเครน ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีจอห์นสันของอังกฤษ
แต่จะไม่ค่อยได้ยินการให้สัมภาษณ์หรือการตอบคำถามบ่อยครั้งนักของ

 

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และในแต่ละครั้ง ก็มักจะเป็นการให้สัมภาษณ์หรือตอบสั้นสั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ต้องถือว่าเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้นมา ที่ประธานาธิบดีปูตินได้ให้สัมภาษณ์ พูดคุย และตอบคำถามที่ละเอียดและใช้เวลานานที่สุดครั้งหนึ่ง ใน Valdai Disscussion Club ที่กรุงมอสโคว์

โดยในช่วงเริ่มต้น ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์เมื่อสี่ปีก่อน (ค.ศ. 2018) ที่ประธานาธิบดีปูตินเองได้เคยตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องสงครามนิวเคลียร์ว่า

 

รัสเซียจะไม่เป็นผู้เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนแน่นอน แต่จะใช้เพื่อการตอบโต้ที่จำเป็นเท่านั้น คำว่าจำเป็นคือ มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าฝ่ายบุกรุกได้ปล่อยอาวุธนิวเคลียร์แล้ว โดยมีเป้าหมายเข้ามาในเขตแดนของรัสเซีย

 

ปูตินได้ตอบเน้นชัดเจนว่า ผู้บุกรุกด้วยอาวุธนิวเคลียร์ จะต้องถูกตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์เช่นกัน

 

และรัสเซียในฐานะเป็นเหยื่อของความรุนแรงดังกล่าว ก็จะไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ผู้บุกรุกจะต้องตายแบบไม่มีโอกาสสำนึกบาปกันเลยทีเดียว

 

ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ได้เรียกร้องให้สหรัฐและอังกฤษ ทำการตรวจสอบโดยด่วน ถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศยูเครนจะใช้ Dirty Bomb ซึ่งทางยูเครนก็ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวทันที

 

ข้อความหรือสาระสำคัญโดยสรุป ที่ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวถึง มีดังนี้

 

  • ช่วงเวลาที่ประเทศตะวันตกครองโลกมานานนั้น กำลังจะสิ้นสุดลงแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • โลกเราจึงกำลังเผชิญหน้ากับทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อันตรายอย่างยิ่ง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
  • สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่มีทั้งอันตราย นองเลือด และสกปรก
  • สหรัฐอเมริกา ยังจะขยับไปสร้างวิกฤตการณ์เพิ่มขึ้นอีกในทวีปเอเชียคือ วิกฤตการณ์จีน-ไต้หวัน
  • สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก ต่างกำลังกังวลอย่างมาก ถึงความตกต่ำหรือการล่มสลายของความเป็นมหาอำนาจ จึงพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะคงความมีอำนาจต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเป็นไปได้ จีนและประเทศตะวันออกจะขยับขึ้นมาแทนที่อย่างแน่นอน
  • อันตรายของอาวุธนิวเคลียร์ จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่โลกของเรายังมีการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อยู่
  • รัสเซียไม่มีความตั้งใจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าในกรณีใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งในสงครามยูเครนด้วย ก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางทหารหรือทางการเมือง
  • รัสเซียเป็นประเทศเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถรับประกันหรือรับรองเขตแดนของยูเครนได้  และทำให้เกิดความเป็นกลาง
  • ปัญหาวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้อยู่ที่รัสเซีย ปัญหาอยู่ที่ตัวของยูเครนเองที่ไม่พร้อมจะลงมาเจรจา การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ยูเครนนั้นง่ายมาก ถ้าสหรัฐฯจะส่งสัญญาณและสนับสนุนให้ยูเครนปรับเปลี่ยนท่าทีหันมาเจรจา
  • รัสเซียฝากถึงผู้นำประเทศตะวันตกและกลุ่มนาโตว่า ควรจะยุติการเป็นศัตรูกัน แล้วมาอยู่ร่วมกัน
  • ไม่ช้าก็เร็ว (Sooner or Later) ระเบียบโลก หมายถึงการมีมหาอำนาจหลายฝ่าย (Multipolar World) จะต้องเกิดขึ้น และกลุ่มประเทศตะวันตกจะต้องเริ่มกลับมาพูดคุยหารือกับประเทศต่างๆทุกภูมิภาคแบบมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ในเรื่องอนาคตของโลก และยิ่งเร็วก็ยิ่งดี (The Earlier The Better)

 

ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ ที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ได้ออกมาตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำ และมีรายละเอียดที่มากพอสมควร ครอบคลุมทั้งเรื่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครน เรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องอนาคตของโลก ที่จะมีมหาอำนาจหลายฝ่าย ไม่ใช่มีเฉพาะสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตกเท่านั้น

 

ก็คงต้องฟังเสียงและท่าทีของสหรัฐอเมริกา นาโต ยูเครน และจีน ว่าจะมีความเห็นอย่างไรต่อไป