เมื่อรัสเซียต้องถอย เหลืออะไรเป็นทางเลือกในสมรภูมิยูเครน

16 ก.ย. 2565 | 09:40 น.

สำนักข่าวรอยเตอร์สำรวจ "7 ทางเลือก" ของประธานาธิบดีปูติน หลังรัสเซียจำเป็นต้อง "ถอยทัพ" ในหลายพื้นที่ของสมรภูมิรบทางภาคตะวันออกของยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ประมวล 7 ทางเลือก ของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย ว่านับจากนี้ ยุทธศาสตร์การรบ น่าจะออกมาเป็นไปในทิศทางใด? หลังจากที่ยูเครนได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับกองทัพของรัสเซีย ด้วยการโจมตีตอบโต้กลับที่ได้ผลเกินคาดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

 

ผู้บัญชาการกองทัพของยูเครนระบุว่า ทหารยูเครนสามารถยึดหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนกลับคืนมาจากทหารรัสเซียได้แล้วจำนวนมาก ทั้งยังสามารถขับไล่กองทัพรัสเซียให้ถอยร่นไปจนประชิดพรมแดน นับเป็นสถานการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้ติดตามสงครามยูเครนอย่างใกล้ชิด

 

เคร็ก อัลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกัสตา กล่าวว่า ดูเหมือนจะเป็นความล้มเหลวของกองทัพรัสเซียทั้งด้านการส่งกำลังบำรุง ด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ทุกอย่างต่างล้มครืนลง แนวหน้าพังทลาย ทหารต่างหนีเอาชีวิตรอดและทิ้งอาวุธ กระสุน และยานพาหนะต่าง ๆ เอาไว้ ดูคล้ายกับเป็นการถอยทัพอย่างยุ่งเหยิงไร้การจัดกำลัง

 

ขณะที่ ลุค คอฟฟีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฮัดสัน ให้ความเห็นว่า ความสำเร็จของยูเครนในสนามรบล่าสุดนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งของสงครามที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 7 เดือน ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกกำลังถกเถียงกันเรื่องการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารและด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน

 

"เมื่อทหารรัสเซียเริ่มโจมตีเป้าหมายที่เป็นของพลเรือน หรือสาธารณูปโภค นั่นแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวัง"

"เมื่อทหารรัสเซียเริ่มโจมตีเป้าหมายที่เป็นของพลเรือน หรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของกองทัพรัสเซียที่เริ่มรู้ตัวว่ากำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิ" คอฟฟีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฮัดสัน ให้ความเห็น

จนถึงขณะนี้ ประธานาธิบดีปูติน ยังไม่ได้ออกมาประกาศถึงสถานการณ์การถอยทัพของรัสเซียในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แต่หากข่าวกรองของชาติตะวันตกเป็นความจริง ก็ถือว่าปูตินกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างมากจากบรรดาชาวรัสเซียที่มีแนวคิดชาตินิยม

 

และ ต่อไปนี้ เป็น "7 ทางเลือก"ที่สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมและประมวลไว้ ว่าอาจเป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้นได้ หากรัสเซียพลาดท่าในสมรภูมิภาคตะวันออกของยูเครนจริงๆ  ซึ่งทุกทางเลือกต่อไปนี้ ล้วนมากับความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง

1. รีบรวบรวมกำลังและจัดทัพใหม่เพื่อบุกโจมตีอีกครั้ง

นักวิเคราะห์ด้านการทหารของรัสเซียเชื่อว่า รัสเซียจำเป็นต้องตรึงกำลังทพหารที่แนวหน้าโดยเร็ว และจัดกำลังทัพใหม่เพื่อการบุกโจมตีตอบโต้ใส่ทางยูเครนได้ทันที แต่ยังไม่ต้องรีบรุกคืบเข้าไปในยูเครน 

 

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่สงสัยว่า รัสเซียมีสรรพกำลัง ทั้งจำนวนทหารและอาวุธ เพียงพอที่จะทำการเช่นนั้นหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดกับกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของรัสเซียตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

1 ใน 7 ทางเลือกคือ รัสเซียต้องรีบรวบรวมกำลังและจัดทัพใหม่เพื่อบุกโจมตีอีกครั้ง

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปธน.ปูติน จะต้องตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนบรรดานายพลระดับสูงของกองทัพ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายเซอร์เก ชอยกู ที่เป็นบุคคลใกล้ชิด สนองความต้องการของบรรดาผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมหรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมา ปธน.ปูติน มักไม่ค่อยปลดผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเร่งรีบ แม้เมื่อต้องเผชิญแรงกดดันก็ตาม

 

2. เคลื่อนกำลังสมทบ

ปัจจุบัน รัสเซียมีกำลังพลสำรองราว 2 ล้านคนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และปูตินอาจใช้กำลังพลส่วนนี้เข้าไปสมทบในยูเครน ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและประจำการ

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่าวิธีนี้จะได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกกลุ่มชาตินิยม แต่อาจไม่ถูกใจผู้ชายชาวรัสเซียที่อยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งไม่ค่อยสนับสนุนการทำสงคราม นอกจากนี้ วิธีดังกล่าวยังอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ปูตินเรียกว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน" ซึ่งหมายถึงการจำกัดเป้าหมายการโจมตีในสงครามครั้งนี้ แต่จะเป็นการเข้าสู่ "สงครามแบบเต็มรูปแบบ"

 

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ย.) รัฐบาลรัสเซียเปิดเผยว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการเคลื่อนกำลังพลสำรองในตอนนี้แต่อย่างใด

 

3. อดทนรอศัตรูเผชิญ "วิกฤตพลังงาน" ในฤดูหนาว

แหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลรัสเซีย เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ปธน.ปูติน คาดหวังว่า ราคาพลังงานที่จะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ ประกอบกับการขาดแคลนพลังงานในยุโรป จะสร้างความยากลำบากให้แก่ชาติในยุโรปในการสนับสนุนด้านอาวุธแก่ยูเครน และอาจทำให้ชาติตะวันตกเหล่านั้นพยายามโน้มน้าวให้ยูเครนยอมวางอาวุธและศิโรราบให้กับรัสเซียในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นักการทูตยุโรปบางคนเชื่อว่า ความสำเร็จในสมรภูมิยูเครนในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่สหภาพยุโรป (อียู) จะโน้มน้าวให้ยูเครนยอมแพ้แก่รัสเซียในเวลานี้

 

4. ขยายเป้าหมายการโจมตีด้วยขีปนาวุธ

หลังจากล่าถอยทัพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน กองทัพรัสเซียได้หันไปใช้วิธีโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่เครือข่ายสาธารณูปโภคของยูเครนมากขึ้น ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์ และน้ำประปาถูกตัดขาด กองทัพรัสเซียได้หันไปใช้วิธีโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่เครือข่ายสาธารณูปโภคของยูเครนมากขึ้น

วิธีนี้ได้รับการชมเชยจากชาวรัสเซียแนวคิดชาตินิยมที่ต้องการให้กองทัพใช้การโจมตีด้วยขีปนาวุธมากขึ้นต่อเป้าหมายพลเรือนในยูเครน แม้เป็นการกระทำที่ถูกประณามจากประชาคมโลกก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากภายในรัสเซียให้ใช้การโจมตีแบบระบุตำแหน่งในกรุงเคียฟและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของยูเครนด้วย

 

5. ยกเลิกหรือลดขนาดข้อตกลงขนส่งธัญพืชจากยูเครน

ที่ผ่านมา ปธน.ปูติน ตำหนิข้อตกลงขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนผ่านทางทะเลดำ ว่าไม่เป็นธรรมต่อรัสเซียและบรรดาประเทศยากจน โดยปูตินมีกำหนดหารือกับผู้นำตุรกีในสัปดาห์นี้เพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงฉบับนี้ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือนพฤศจิกายน 2565

 

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปูตินอาจตัดสินใจยกเลิกหรือไม่ต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวเพื่อตัดช่องทางหารายได้ของยูเครน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดเสียงประณามจากทั่วโลกว่าผู้นำรัสเซียเป็นตัวการทำให้วิกฤติอาหารโลกรุนแรงขึ้น

 

6. จัดทำข้อตกลงสันติภาพ

รัฐบาลรัสเซียเคยระบุว่า เมื่อเวลาเหมาะสม รัสเซียจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ยูเครนทำตามเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ยืนยันว่า เขาจะใช้กำลังเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองรัสเซีย ซึ่งรวมถึงแคว้นไครเมียด้วย ซึ่งเป็นจุดยืนที่อาจทำให้ข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้นได้ยาก

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากรัสเซียยินยอมปลดปล่อยเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์ ในแคว้นดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัสเซียยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็น "รัฐปกครองตนเอง" ก็อาจมีความเป็นไปได้ทางการเมืองที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างสองประเทศได้

 

7. สุดท้ายอาจต้องพึ่งนิวเคลียร์

โทนี เบรนตัน อดีตทูตอังกฤษประจำรัสเซีย เตือนว่า หากปธน.ปูติน รู้สึกว่าตนเองกำลังจนตรอกหรือกำลังพ่ายแพ้อย่างน่าขบขัน เขาอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ

 

ด้าน เบน ฮอดจ์ส อดีตนายพลแห่งกองทัพอากาศสหรัฐเห็นด้วยว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยอย่างยิ่ง เพราะจะไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบจากเรื่องนี้ ซึ่งปูตินและคนใกล้ชิดของเขาก็คงไม่อยาก "ฆ่าตัวตาย" เพราะหากทำเช่นนั้น โลกตะวันตกต้องกระโจนเข้าสู่สงครามกับรัสเซียโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้