อนาคตของอังกฤษ ยุโรป-โลก หลังควีนเอลิซเบธสวรรคต ศก.ไทยจะเป็นยังไง อ่านเลย

11 ก.ย. 2565 | 11:18 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2565 | 19:02 น.

อนาคตของอังกฤษ ยุโรป-โลก หลังควีนเอลิซเบธสวรรคต ศก.ไทยจะเป็นยังไง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ อนุสรณ์ ธรรมใจ วิเคราะห์สถานการณ์ราชอาณาจักร

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่รัชกาลใหม่ของสหราชอาณาจักรจากรัชสมัยของพระนางเจ้าเอลิซาเบธ สู่รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้ดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือกษัตริย์ภายใต้กฎหมายด้วยความเรียบร้อยตามพระราชประเพณี สร้างเสถียรภาพต่อระบบการเมืองอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ Stagflation อันเป็นภาวะเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นพร้อมกัน ของสหราชอาณาจักร 

 

ขณะที่อังกฤษก็เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ต้องมาทำหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ท่าทีต่อปัญหาสงครามในยูเครนและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ย่อมส่งผลต่อดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การดำเนินการออกจากอียูให้เรียบร้อย การเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับไทยกับสหรัฐอเมริกา กับประเทศอื่นๆแบบทวิภาคี และพหุภาคีกับอาเซียนล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในภูมิภาค

 

ทั้งนี้ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรและยุโรปเป็นประเด็นเร่งด่วนและประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลใหม่และกษัตริย์องค์ใหม่ต้องเผชิญร่วมกัน ปัญหาการขาดแคลนพลังงานและราคาพลังงานพุ่งสูงจะเป็นปัญหาใหญ่ของยุโรปในช่วงฤดูหนาวจากการคว่ำบาตรของรัสเซีย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นผู้สนพระทัยอย่างยิ่งต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน คาดว่า กษัตริย์พระองค์ใหม่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน 

ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในยุโรปและสหราชอาณาจักร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ บทบาทการรณรงค์เชิงรุกในเรื่องดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการค้าของสหราชอาณาจักรและยุโรปที่ก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจนำมาสู่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม 

 

ประเด็นวิกฤติการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศและความแปรปรวนอย่างรุนแรงของภูมิอากาศ (Climate Crisis) ประเด็นอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ประเด็นการทำลายพื้นที่ป่า (Deforestation) ประเด็นมลพิษในมหาสมุทร 

 

ขณะเดียวกัน ประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาสู่การหารือในเวทีนานาชาติเพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม อย่างไร บทบาทของเจ้าฟ้าชาร์ลส์ในอดีตต่อประเด็นสาธารณะต่างๆอาจลดได้จากการที่พระองค์ในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ต้องมีบทบาทในพระราชพิธีต่างๆ งานพิธีการต่างๆ มากขึ้น เป็น ceremonial figure, strictly removed from politics.

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะถูกพูดถึงมากขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ใหม่ พร้อมกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นภาระทางการคลังต่อประชาชนผู้เสียภาษีน้อยลงท่ามกลางปัญหาฐานะการคลังของรัฐบาลอังกฤษ กระแสสาธารณรัฐที่เพิ่มขึ้น ทั้งในสหราชอาณาจักร ในประเทศเครือจักรภพ และทั่วโลก จะทำให้ระบอบกษัตริย์อังกฤษต้องมีกษัตริย์ที่สอดคล้องกับกษัตริย์ยุคศตวรรษที่ 21 มากยิ่งกว่าเดิมเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ 

อันเป็นสถาบันเก่าแก่มีพัฒนาการที่สอดคล้องกับยุคใหม่มากขึ้น กรณีประเทศในเครือจักรภพจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์หรือทยอยถอดกษัตริย์อังกฤษ ออกจากการเป็นประมุขของประเทศจะเกิดขึ้นตามประเทศบาร์เบโดสที่เลือกประมุขผ่านกลไกรัฐสภา มีการเปลี่ยนผ่านจาก ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นระบอบประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างสันติด้วยการลงประชามติ กรณีบาร์เบโดสยกเลิกระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2564 ตามประเทศมอริเชียสที่ได้ดำเนินการยกเลิกระบอบกษัตริย์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2535

 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในการเฉลิมฉลองสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่การเป็นสาธารณรัฐของประเทศบาร์เบโดสเมื่อปีที่แล้วอย่างสันติด้วยการลงประชามติของประชาชน นั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ซึ่งต่อมาเป็น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรและประเทศเครือจักรภพก็ได้เข้าร่วมงานรัฐพิธีนี้ด้วย 

 

และยังได้กล่าวแสดงจุดยืนอันน่าชื่นชมของพระองค์ท่าน ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อเริ่มต้นใหม่ พร้อมยอมรับความผิดผลาดในอดีตของจักรวรรดิอังกฤษในการสร้างระบบทาสอันกดขี่ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกและบาร์เบโดสเป็นแห่งแรกๆ โดยพระองค์ตรัสยอมรับถึงระบบทาสอันโหดร้ายที่บาร์เบโดสเคยเผชิญมาในอดีตจากน้ำมือจักรวรรดิอังกฤษ 

 

จึงมีความเชื่อมั่นว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ ของสหราชอาณาจักรจะร่วมกับประชาชนผู้ยึดถือสิทธิมนุษยชนต่อต้านการเหยียดหยามเชื้อชาติหรือสีผิวรณรงค์ให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสและการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว ให้ลดน้อยลงและโลกมีสันติธรรม มีสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น บทบาทของกษัตริย์พระองค์ใหม่และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรต่อปัญหาสงครามและความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย 

 

อาจทำให้แนวโน้มของสงครามและผลกระทบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังได้แสดงสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยการกล่าวปฏิญาณว่า จะรับใช้ประชาชนสหราชอาณาจักรด้วยความซื่อสัตย์ ด้วยความเคารพและความรัก (would serve the British people with loyalty, respect and love) และสนันสนุนยืนยันปกป้องหลักการของรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใขของประเทศ (Uphold the constitutional principles at the heart of our nation)

 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ประเทศในยุโรปรวมทั้งอังกฤษที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ล้วนเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาแห่งยุโรปเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms – ECHR) ประเทศเหล่านี้รวมทั้งสหราชอาณาจักรแทบจะไม่บังคับใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพแล้ว 

 

สมาชิกรัฐสภาแห่งยุโรปได้เรียกร้องให้การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ถือเป็นความผิดอาญา (Decriminalisation) ในยุโรป การลงโทษก็เป็นแต่เพียงการลงโทษแบบลหุโทษในกรณีที่หลังจากสอบสวนด้วยความยุติธรรมแล้วว่าเป็นการหมิ่นจริงๆ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ 

 

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ต่อสถาบันกษัตริย์และตัวกษัตริย์สามารถกระทำได้ในสหราชอาณาจักรและในประเทศยุโรปอื่นๆที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ ในประเทศสหราชอาณาจักรกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ในสภาพเลิกบังคับใช้มานานแล้ว 

 

ขณะที่ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ก็ไม่มีตัวอย่างเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมานานมากๆแล้ว สำรวจดูคำพิพากษาของศาลเนเธอร์แลนด์พบว่า มีเพียงไม่กี่คดีที่ถูกศาลพิพากษาว่า มีความผิดจริงและมีการลงโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะไม่ใช่อาญากรรม ในบทความ ของ ชัคโค ฟาน เดน เฮาท์ (Tjaco Van Den Hout) เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของยุโรป กับเสรีภาพในการแสดงความเห็น

 

ตอนหนึ่งได้ยกตัวอย่าง คดีระหว่าง นักหนังสือพิมพ์ และกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 แห่งโมร็อกโก ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปตัดสินว่า การตรากฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นกรณีพิเศษไม่ได้ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาแห่งยุโรปเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็ตาม แต่กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาก็ เพียงพอสำหรับการปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐและพลเมืองธรรมดาสามัญจากการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นการทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของพวกเขา 

 

กรณีของไทย ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองกล่าวหาบุคคลอื่นในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างพร่ำเพรื่อไร้เหตุผลในหลายกรณี มีการยัดข้อหา ยัดคดีให้กับเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ ดำเนินคดีหมิ่นกับผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือคู่ขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม 

 

และขัดกับมโนสำนึกแห่งความเป็นธรรม ภาวะเหล่านี้ล้วนทำลายหลักการปกครองของไทยที่มุ่งยกสถานะสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง เหนือความขัดแย้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์อยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ ฐานะของประมุขแห่งรัฐกำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในที่เคารพสักการะ

 

ในประวัติศาสตร์การเมือง การต่อสู้แข่งขันในหลายช่วงเวลาได้มีการทำลายล้างคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมือง หรือ ความเห็นต่างทางการเมือง ด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีและการหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ข้อกล่าวหาในหลายกรณีเป็น การยัดข้อหาหรือคดีให้กับผู้ที่แสดงความเห็นโดยสุจริตถึง ฐานะ และ ความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับระบอบการปกครอง บทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ต่อรัฐธรรมนูญ การสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่แสดงความเห็นโดยสุจริต

 

จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ในกรณีของไทยจึงต้องเป็นตามหลักนิติรัฐและไม่ละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้

 

การขยายวงของสงครามปูตินรัสเซียกับยูเครนและสงครามยืดเยื้อจนถึงปี ค.ศ. 2023 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ยุโรปและทั่วโลกรวมทั้งไทย ปัจจัยดังกล่าว จะทำให้ราคาพลังงานผันผวนและพุ่งสูงได้ตลอดเวลา อัตราเงินเฟ้อ Hyperinflation จะเกิดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงแบบศรีลังกา เมียนมา ปากีสถาน ซีเรีย ซูดาน เวเนซูเอลา ซิบบับเว อาร์เจนตินา อิหร่าน ตุรกี และ เอธิโอเปีย จะเกิดเพิ่มขึ้นได้อีก 

 

หากสงครามในยูเครนขยายวง ประเทศที่มี มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า 30% ขึ้นไป ไม่ได้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาอาหารเท่านั้น แต่เป็นประเทศที่มีการผิดผลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรุนแรง หรือ มีสถานการณ์สงครามกลางเมือง ขณะที่ประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงแบบ Hyperinflation มีความเสี่ยงที่จะเป็น Social Unrest และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบรุนแรงได้

 

เศรษฐกิจไทยยังรับมือได้ เงินเฟ้อไม่น่าสูงเกิน 10% เงินเฟ้ออาจสูงขึ้นบ้างจากผลกระทบน้ำท่วมทำให้ผลผลิตหายไปจากระบบ พืชผลเกษตรและปศุสัตว์ได้รับความเสียหาย ต้นทุนในการเดินทางและขนส่งสินค้าสูงขึ้น ราคาอาหารโลกแพงขึ้นเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมส่งออกอาหาร ไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควต้าส่งออกอาหารเพราะไม่มีปัญหาการขาดแคลนและราคาในประเทศยังไม่สูงมากนัก ผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานแพง ต้นทุนเพิ่มสูง เงินบาทอ่อนเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

 

เมื่อเงินเฟ้อเกิดจากฝั่งอุปทานและเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว บทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับเงินเฟ้อประเภทนี้จึงมีอยู่จำกัด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุปทานได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วไปจนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง โดยเฉพาะไปซ้ำเติมกลุ่มคนมีรายได้น้อยที่อาจมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แต่เดิม และยังต้องแบกรับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น (กลุ่มคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและน้ำมันสูงกว่ากลุ่มคนรายได้สูงประมาณ 17%)

 

หากเศรษฐกิจขยายตัวแล้วสูงและเงินเฟ้อสูงขึ้นตามความต้องการบริโภค (demand-pull inflation) การขึ้นดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผชิญ pent-up demand และตลาดแรงงานตึงตัวมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อในลักษณะนี้ เพราะไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤติแบบช้าๆ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย 

 

และการใช้มาตรการเฉพาะจุดโดยภาครัฐเพื่อดูแลปัญหาค่าครองชีพ เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม จึงยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องจนทำให้ครัวเรือนกับภาคธุรกิจเริ่มปรับเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) สูงขึ้นแบบ Wage-Price Spiral ในช่วงวิกฤตน้ำมันแพง 1970 ยังไม่มีสัญญาณเกิดขึ้นในไทย ตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูง ผู้ใช้แรงงานมีอำนาจต่อรองน้อยในระบบไตรภาคี 

 

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุด ก็ปรับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ระบบค่าแรงขั้นต่ำของไทยไม่ได้เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ มีการกำหนดตามพื้นที่ตามกลไกตลาดที่ในหลายพื้นที่แทบไม่มีองค์กรของผู้ใช้แรงงานอยู่ จากงานวิจัยของสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย นุวัต หนูขาวและคณะ พบว่า 

 

เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหภาค แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าเป็นสำคัญโดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน ความผันผวนของเงินเฟ้อไทยสูงถึง 85% มาจากปัจจัยหมวดพลังงาน ปัจจัยเงินเฟ้อไทยมาจากอุปทานเป็นหลัก เพียง 15% มาจากปัจจัยด้านมหภาค 

 

ฉะนั้น หากพิจารณาจากงานวิจัยล่าสุดก็ยืนยันว่า แบงก์ชาติไม่จำเป็นเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไตรภาคีก็ปรับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออีก ก็ยิ่งไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าแรงเพิ่มขึ้นเลย ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศก็เผชิญภาวะน้ำท่วมขัง รวมทั้ง กรุงเทพและปริมณฑลด้วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอ ฉะนั้นไม่มี Demand-Pull Inflation แน่นอน