svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

โลกอาลัย ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ถึงแก่อสัญกรรม ในวัย 91 ปี

30 สิงหาคม 2565

‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ อดีตผู้นำรัสเซีย ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต” และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี1990 จากบทบาทการยุติสงครามเย็น ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 91 ปี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ส.ค.)

นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำ สหภาพโซเวียต วัย 91 ปี ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการป่วยเรื้อรังซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม จากแถลงการณ์ของโรงพยาบาลกลาง Central Clinical Hospital ในกรุงมอสโก 

 

สำนักข่าวทาสส์ (Tass) สื่อใหญ่ของรัสเซียรายงานว่า ร่างของกอร์บาชอฟ จะถูกฝังที่สุสานโนโวเดวิชี ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เคียงข้างกับภรรยาผู้ล่วงลับของเขา

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้รับการจดจำในฐานะผู้นำในหลากหลายมิติ เขาผู้มีเอกลักษณ์ปานสีแดงบนศีรษะลักษณะคล้ายแผนที่ คือผู้ที่นำพาการปฏิรูปมาสู่รัสเซียซึ่งในขณะนั้นยังคงเป็น “สหภาพโซเวียต”

 

เขาได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในปี 1985 ปกครองประเทศจนถึงปี 1991 กอร์บาชอฟเคยมีอุดมการณ์แบบลัทธิมาคส์-เลนิน แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมในทศวรรษ 1990

มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ภาพจากสำนักข่าวทาสส์)

แม้ว่ากอร์บาชอฟ จะดำรงตำแหน่งอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายในเวลาไม่ถึง 7 ปี แต่เขาก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายซึ่งเป็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในตอนนั้น และนำไปสู่ "การล่มสลายของสหภาพโซเวียต" ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศจากการครอบงำของรัสเซีย จากที่เคยเป็นประเทศเดียว ก็กลายเป็น 15 สาธารณรัฐแยกจากกัน และการสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและชาติตะวันตก

กอร์บาชอฟ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า กว่า 25 ปีหลังจากล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาไม่คิดจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการผนวกรวมสหภาพโซเวียตไว้ด้วยกัน เพราะเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายโกลาหลอย่างมาก โดยในตอนนั้นเขาเปิดเผยว่า “ประเทศ (สหภาพโซเวียต) ของเราเต็มไปด้วยอาวุธ และมันจะผลักดันให้ประเทศต้องเข้าสู่สงครามกลางเมืองอย่างแน่นอน”

 

ในช่วงปลายวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำโซเวียตของเขา กอร์บาชอฟแม้จะดูไร้ซึ่งอำนาจ แต่ก็มีบทบาทใหญ่ขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เมื่อเทียบกับนักการเมืองในยุคเดียวกัน โดยกอร์บาชอฟ เปิดเผยต่อสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี 1992 หลังก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตว่า

 

“ผมมองเห็นตัวเองในฐานะชายที่เริ่มต้นการปฏิรูปที่จำเป็นต่อประเทศชาติ ต่อยุโรป และต่อโลก”

กอร์บาชอฟทำให้สงครามเย็นยุติลง สัมพันธภาพระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกาดีขึ้นอย่างมาก ในภาพคือกอร์บาชอฟกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

การปฏิรูปที่ชัดเจนที่กอร์บาชอฟนำมาสู่สังคมและเศรษฐกิจของรัสเซีย คือภายในสองสามปีแรกของเขาในฐานะผู้นำสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟได้นำเสนอนโยบาย กลาสนอสต์ (glasnost) ที่แปลว่า"การเปิดกว้าง" และ เปเรสตรอยกา (perestroika) หรือ "การปรับโครงสร้าง" ที่โด่งดังไปทั่วโลก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสหภาพโซเวียตและนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะเดียวกัน 

 

นโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตภายใต้ "เปเรสตรอยกา" นั้นเป็นการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจ ส่งผลให้บทบาทของรัฐบาลในกระบวนการตัดสินใจของแต่ละองค์กรลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เปเรสตรอยกายังมุ่งหวังที่จะปรับปรุงระดับการผลิตด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น รวมถึงการให้เวลาพักผ่อน และสภาพการทำงานที่ปลอดภัยมากขึ้น

 

กอร์บาชอฟถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี

ในยุคตกต่ำของกอร์บาชอฟ อำนาจของเขาเสื่อมถอยลงจากความพยายามก่อรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1991 เขาได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งผู้นำ เฝ้ามองการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งเขาลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ธันวาคมในปีเดียวกัน และ “สหภาพโซเวียต” ได้ลบตัวเองออกจากแผนที่ในวันต่อมา

 

กอร์บาชอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1990 จากบทบาทการยุติสงครามเย็น และใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตขึ้นรับรางวัลต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก แต่เขากลับถูกดูหมิ่นอย่างมากในบ้านเกิดของตัวเอง โดยชาวรัสเซียกล่าวหากอร์บาชอฟว่า เป็นตัวการให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายในปี 1991 จากที่เคยเป็นประเทศมหาอำนาจที่ควบคุม 15 ประเทศในยุโรปตะวันออกได้ ขณะที่พันธมิตรการเมืองของเขาต่างตัดสัมพันธ์และโยนให้เขาเป็นแพะรับบาปกับความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ