อัพเดทวิกฤตไต้หวัน UN ย้ำหนุนหลักการจีนเดียว ญี่ปุ่นเจอลูกหลงขีปนาวุธ 5 ลูก

05 ส.ค. 2565 | 00:34 น.

การซ้อมรบครั้งใหญ่ของจีนซึ่งปิดล้อมเกาะไต้หวันทั้งทางน้ำและทางอากาศ เพื่อตอบโต้การเดินทางเยือนกรุงไทเปของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯสหรัฐ เริ่มแล้ววานนี้ (4 ส.ค.) สร้างความตึงเครียดทั่วทั้งภูมิภาคขณะที่ UN ออกมาย้ำหนุนหลักการ "จีนเดียว"

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าววานนี้ (4 ส.ค.) ว่า UN ให้การสนับสนุน “หลักการจีนเดียว” ของ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยยึดมั่นตามมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่ 2758 ในปี 2514

 

"เรา (UN) มีจุดยืนที่ชัดเจน โดยเราจะยึดมั่นหลักการจีนเดียวตามมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯ" นายกูเตอร์เรสกล่าว

 

นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังให้การยอมรับว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิกถาวร 1 ใน 5 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ  (UNSC)

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN)

ทั้งนี้ หลักการจีนเดียว เป็นการยอมรับจุดยืนของจีนทางการทูตว่า มีรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ยอมรับและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) แทนที่จะเป็นเกาะไต้หวัน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐจีน" (Republic of China) โดยจีนถือว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่แยกตัวออกไป และจะต้องกลับมารวมประเทศกับจีนสักวันหนึ่ง (เหมือนกับกรณีของเกาะฮ่องกง)

 

นโยบายจีนเดียวเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ และยังเป็นรากฐานทางการทูตและการทำนโยบายของจีนกับนานาประเทศด้วย ประเทศใดที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน

 

เรื่องนี้ส่งผลให้ไต้หวันเผชิญกับการโดดเดี่ยวทางการทูตจากประชาคมโลก แต่ทั้งนี้ หลายประเทศก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ “อย่างไม่เป็นทางการ” กับไต้หวันไว้ ผ่านการจัดตั้งสำนักงานการค้าหรือสถาบันวัฒนธรรม (แทนการจัดตั้งสถานทูต) ส่วนสหรัฐเองยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน ความสัมพันธ์ที่สหรัฐมีต่อไต้หวันนั้น เป็นการรักษาความสัมพันธ์ "อย่างไม่เป็นทางการที่เหนียวแน่น" ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการขายอาวุธให้กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไต้หวันใช้ป้องกันตัวเองได้ด้วย

ภาพจากสื่อจีน (CCTV) แสดงการซ้อมยิงขีปนาวุธวานนี้ (4 ส.ค.)

สหรัฐเรียกร้องจีนอย่า “เล่นใหญ่” ต่อกรณีนางเพโลซี

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าววานนี้เช่นกันว่า จีนไม่ควรมีปฏิกริยามากเกินไป (โอเวอร์รีแอค) ต่อการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งใช้เวลาปฏิบัติภารกิจในไต้หวันไม่ถึง 24 ชั่วโมง (ระหว่างวันที่ 2-3 ส.ค.) ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสฯ (4 ส.ค.) จีนได้เริ่มการซ้อมรบครั้งใหญ่ทั้งทางน้ำและทางอากาศรอบเกาะไต้หวันโดยใช้กระสุนจริง

 

"เรากำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด และขอเรียกร้องให้จีนอย่ามีปฏิกริยามากเกินไป เพราะไม่มีเหตุผลที่จีนจะเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคนี้" นายเคอร์บีกล่าว

 

ญี่ปุ่นนั่งไม่ติด ขีปนาวุธจีน 5 ลูกตกในพื้นที่อ้างสิทธิ์

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงว่า กองทัพจีนได้ยิงขีปนาวุธ 9 ลูกวานนี้ (4 ส.ค.) ซึ่งเป็นการซ้อมรบใหญ่วันแรก และจำนวน 5 ลูกได้ตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น  (EEZ) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จีนได้ยิงขีปนาวุธตกลงในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฮาเตรูมะ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนระบุว่า ไม่เคยยอมรับการอ้างสิทธิครอบครองของญี่ปุ่น

แนวเขตการซ้อมรบของจีนอยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่น

 นายโนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียที่นางเพโลซีจะไปเยือนต่อจากเกาหลีใต้ในกำหนดการเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการช่วงสัปดาห์นี้ ระบุว่า "นี่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติของเรา และความปลอดภัยของประชาชน"

 

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ทำการประท้วงทางการทูตต่อรัฐบาลจีน โดยนายโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เรียกร้องให้จีนยุติการซ้อมรบใกล้เกาะไต้หวันโดยทันที

 

นายฮายาชิ ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ชาติอาเซียนยกระดับความร่วมมือ เพื่อสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาสนับสนุนบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังหรือบีบบังคับ นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับอาเซียนส่งเสริมความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เพื่อตอบโต้การที่จีนแผ่แสนยานุภาพเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำในภูมิภาค (อ่านเพิ่มเติม: จีนซ้อมรบกระทบเส้นทางเดินเรือ-เส้นทางบิน ท่าเรือหลักไต้หวันถูกปิดล้อม )