จีน “คว่ำบาตรการค้า” สั่งสอนไต้หวัน มีสินค้าอะไรบ้างเช็คที่นี่

04 ส.ค. 2565 | 09:21 น.

นอกเหนือจากการซ้อมรบใหญ่ 4 วันทั้งทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้อม “ปิดล้อม” ไต้หวันแล้ว จีนยังตอบโต้กรณีนางแนนซี เพโลซี ปธ.สภาผู้แทนสหรัฐเยือนไต้หวันเมื่อวันที่ 2-3 ส.ค. ด้วย“มาตรการทางเศรษฐกิจ” ระงับนำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายรายการ มีผลทันที

วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางการ จีน เดินหน้าประกาศ ระงับการส่งออก ทรายธรรมชาติจากจีนไปยัง ไต้หวัน ขณะเดียวกันก็ได้สั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผลไม้ตระกูลส้มและปลาบางชนิดจากไต้หวัน นับเป็น มาตรการตอบโต้ล่าสุด ทางการค้าที่จีนมีต่อไต้หวัน หลัง นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวัน (2-3 ส.ค.) ท่ามกลางการคัดค้านของจีนพร้อมทั้งการข่มขู่ว่า จีนจะตอบโต้ด้วยมาตรการเด็ดขาด

 

ก่อนหน้านี้ช่วงต้นสัปดาห์ ศุลกากรจีนได้ระงับการนำเข้าสินค้าจากบริษัทขนมอบของไต้หวันจำนวน 35 ราย มีผลตั้งแต่วันจันทร์ (1 ส.ค.) ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีข่าวว่านางเพโลซีจะเดินทางแวะไต้หวันแม้ไม่อยู่ในกำหนดการอย่างเป็นทางการของทริปเยือน 4 ประเทศเอเชีย (สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น)

 

ข้อมูลศุลกากรของจีนระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย.2565 การนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมายังจีน มีมูลค่า 112,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยสินค้าที่จีนนำเข้าจากไต้หวันนั้น หลัก ๆ ได้แก่ แผงวงจรรวมและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

ต่อไปนี้เป็น สรุปรวมมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของจีนที่มีต่อไต้หวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี

ระงับส่งออกทรายธรรมชาติให้ไต้หวัน

กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า จีนได้ระงับการส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวันตั้งแต่วันพุธ (3 ส.ค.) เป็นต้นไป โดยทรายธรรมชาติเป็นวัสดุที่ใช้อย่างมากในการก่อสร้างและผสมคอนกรีต นอกจากนี้ ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญยิ่งยวดต่อการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ หรือ ชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไต้หวัน ทั้งนี้ ทางกระทรวงระบุว่า การระงับส่งออกทรายไปยังไต้หวัน เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

 

ในอดีตจีนเคยใช้มาตรการนี้กับไต้หวันมาแล้ว โดยในเดือนมีนาคม 2007  (พ.ศ.2550) จีนระงับการส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวันเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มโดยอ้างข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า ไต้หวันนำเข้าทรายธรรมชาติกว่า 90% จากจีนในปีดังกล่าว

จีนระงับการส่งออกทรายไปยังไต้หวัน มีผลตั้งแต่ 3 ส.ค. 2565

ระงับนำเข้าผลไม้และปลา

นอกจากนี้ จีนยังสั่งระงับการนำเข้าผลไม้ตระกูลส้ม รวมทั้งปลาดาบเงินลายทางขาวแช่เย็น และปลาทูแขกแช่แข็งจากไต้หวัน เริ่มตั้งแต่วันพุธ (3 ส.ค.) เป็นต้นไปเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า ตรวจพบร่องรอยยาฆ่าแมลงบนผลไม้ตระกูลส้ม และร่องรอยเชื้อโคโรนาไวรัสบนบรรจุภัณฑ์ปลาแช่แข็งบางประเภทเมื่อเดือนมิ.ย.2565

ทั้งนี้ สินค้าอาหารและการเกษตรที่จีนนำเข้าจากไต้หวันเป็นอันดับต้น ๆ มีทั้งอาหารทะเล กาแฟ ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม และน้ำส้มสายชู

ตั้งแต่ 3 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป จีนสั่งระงับการนำเข้าผลไม้ตระกูลส้มจากไต้หวัน

เมื่อเดือน ม.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา (ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565) สินค้าอาหารและการเกษตรที่จีนนำเข้าจากไต้หวันมากที่สุด คือปลาและสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ โดยมีมูลค่าการค้าราว 59 ล้านดอลลาร์

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นปี จีนยังได้ระงับการนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวัน โดยระบุว่าตรวจพบสารเคมีต้องห้ามในปลาดังกล่าว และเมื่อปีที่แล้ว (2564) จีนยังระงับการนำเข้าสับปะรด น้อยหน่า และชมพู่จากไต้หวัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องยาฆ่าแมลง

 

ระงับนำเข้าขนมบิสกิตและขนมอบ

จีนเริ่มระงับการนำเข้าสินค้าบิสกิตและขนมอบจากบริษัทไต้หวัน 35 ราย มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากจำนวนบริษัทไต้หวัน 107 แห่งที่จดทะเบียนกับกรมศุลกากรของจีนภายใต้หมวดขนมบิสกิต ขนมอบ และขนมปังนั้น มีจำนวน 35 รายได้ถูกระบุว่า "ระงับการนำเข้า"

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในจำนวนบริษัทไต้หวัน 3,200 รายที่จดทะเบียนภายใต้หมวด “อาหาร” มี 2,066 รายถูกระบุว่า "ระงับการนำเข้า"

 

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า หลังจากนี้จีนจะยังเพิ่มการระงับนำเข้าสินค้าจากไต้หวันอีกหรือไม่ โดยเฉพาะหมวดสินค้าที่จีนมีการนำเข้าจากไต้หวันคิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด หมวดอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร พลาสติก และเคมีภัณฑ์

 

สำนักงานสถิติของไต้หวันระบุว่า จีนนำเข้าสินค้าจากไต้หวันสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.89 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา (2564) แต่จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทิศทางการค้าระหว่างกันอาจจะเป็นไปในทางที่ลดลง

 

จีนเพ่งเล็งสกัดกั้นการดำเนินงานของมูลนิธิไต้หวันสองแห่ง

ทางการจีนยังประกาศว่าจะ “ดำเนินการทางวินัย” กับมูลนิธิสองแห่งของไต้หวัน ที่จีนอ้างว่ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน (แยกไต้หวันออกจากจีน) เป็นอย่างมาก

 

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานคำพูดของ นายหม่า เสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ที่ระบุว่า มูลนิธิทั้งสองแห่ง ได้แก่ มูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย (Taiwan Foundation for Democracy) และ กองทุนความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน (Taiwan Foreign Ministry's International Cooperation and Development Fund) จะถูกห้ามร่วมมือกับองค์กร บริษัท หรือบุคคลใด ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่

 

ทั้งนี้ จีนจะลงโทษองค์กร บริษัท หรือบุคคลใด ๆ ในจีนที่สนับสนุนทางการเงินแก่มูลนิธิทั้งสองแห่งนี้ และจะมีมาตรการเพิ่มเติมต่อไปหากจำเป็น

 

นอกเหนือจากที่กล่าวมา จีนยังสั่งห้ามบริษัทของจีนทำข้อตกลงและความร่วมมือใด ๆ กับบริษัทไต้หวัน 4 ราย ที่บริจาคเงินให้มูลนิธิทั้งสอง นอกจากนี้ ผู้บริหารของทั้ง 4 บริษัทยังถูกห้ามเดินทางเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

 

ข่าวระบุว่า บริษัททั้ง 4 รายของไต้หวันดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ได้แก่

  • บริษัท Speedtech Energy Co. เป็นผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์
  • บริษัท Hyweb Technology Co. เป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล
  • บริษัท Skyla ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • และบริษัท SkyEyes ผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าเเช่เย็น