"อินเดีย-เปรู" รายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากฝีดาษลิง

01 ส.ค. 2565 | 23:53 น.

อินเดียยืนยันวานนี้ (1 ส.ค.) ว่า มีผู้เสียชีวิตรายแรกจากการติดเชื้อฝีดาษลิง ที่รัฐเกรละ ทางภาคใต้ของประเทศ โดยกรณีดังกล่าวนับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 4 นอกภูมิภาคแอฟริกา หลังจากนั้น "เปรู" ก็ยืนยันผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงรายแรกของประเทศเช่นกัน เป็นรายที่ 5 ของโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยังคงมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจาก โรคฝีดาษลิง (monkeypox) และเป็นการเสียชีวิตนอกทวีปแอฟริกาซึ่งฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว โดยในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว สเปน รายงานว่า พบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อฝีดาษลิง 2 ราย ขณะที่ บราซิล ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตจากสาเหตุเดียวกันนี้ 1 ราย

 

สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตใน อินเดีย ซึ่งเป็นรายแรกในเอเชียและเป็นรายที่ 4 ของโลกนั้น นายเค ราจาน รัฐมนตรีกระทรวงรายได้และการเคหะแห่งรัฐเกรละ เปิดเผยว่า เป็นชายหนุ่มวัย 22 ปีซึ่งเดินทางเข้ามาในรัฐเกรละตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ก่อนจะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในวันที่ 26 กรกฎาคม โดยมีอาการเหนื่อยอ่อนและมีไข้ และเสียชีวิตในวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค.) ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้สั่งแยกตัวประชาชนจำนวน 21 คนที่มีประวัติเคยใกล้ชิดกับชายผู้นี้แล้ว 

 

ด้านนางวีณา จอร์จ รัฐมนตรีสาธารณสุขประจำรัฐเกรละ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) ว่า ชายคนดังกล่าวแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ตัวเขาเองตรวจพบว่าติดเชื้อฝีดาษลิงตั้งแต่เมื่ออยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว จากนั้นจึงเดินทางกลับมาอินเดีย

ส่วนกรณีที่ ประเทศเปรู ยืนยันวันนี้ (2 ส.ค.) พบผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคฝีดาษลิง โดยโรงพยาบาลเดอ เดอ มาโย ในกรุงลิมา รายงานการพบผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 45 ปี เดินทางมายังโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยที่ค่อนข้างหนักจากฝีดาษลิง โดยสุขภาพของชายคนดังกล่าวอ่อนแออย่างมาก เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคประจำตัว คือ เอชไอวี/เอดส์ ที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน และเสียชีวิตในที่สุด จากภาวะพิษเหตุติดเชื้อ


กรณีดังกล่าวทำให้เปรูเป็นประเทศที่สองในอเมริกาใต้ ต่อจากบราซิลที่ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

กระทรวงสาธารณสุขของเปรูยืนยันว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสมจากโรคฝีดาษลิงในประเทศมากกว่า 300 คน 

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัส "ฝีดาษลิง" หรือ monkeypox ทั่วโลกแล้วมากกว่า 18,000 คนใน 78 ประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป