จับตาเจรจา"ไบเดน-สี จิ้นผิง" 28 ก.ค. ผ่าทางตันสัมพันธ์ตึงเครียดขั้นสุด

27 ก.ค. 2565 | 06:08 น.

ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเตรียมเจรจากับปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวันพฤหัสฯ นี้ (28 ก.ค.) ท่ามกลางความตึงเครียดที่เป็นประเด็นร้อนปรอทแตกเกี่ยวกับสถานการณ์เผชิญหน้าจีน-ไต้หวัน หวั่นไบเดนคว้าน้ำเหลวอีกครั้ง หลังทริปเยือนซาอุฯ ที่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับมา

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววันนี้ (27 ก.ค.) ว่า การเจรจาทางโทรศัพท์ข้ามทวีป ระหว่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเป็นการเจรจาครั้งแรกของผู้นำทั้งสองนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการเจรจาที่จะมีขึ้นท่ามกลางบริบท ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ตึงเครียดมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีข่าวนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและคณะ กำลังจะเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ และจีน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาประกาศลั่นเตือนกันล่วงหน้าไว้แล้วว่า ถ้าข่าวนี้เกิดขึ้นจริง จีนที่ถือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จะตอบโต้ด้วย "มาตรการขั้นสูงสุด"

 

นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 ก.ค.) ว่า จีนกำลัง เตรียมพร้อมอย่างจริงจัง สำหรับความเป็นไปได้ที่นางเพโลซีและคณะ ซึ่งถือเป็นบุคคลระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ จะเยือนไต้หวันซึ่งจีนถือว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

ผู้นำทั้งสองเคยเจรจาออนไลน์ข้ามทวีปเมื่อเดือนพ.ย. 2564

ขณะที่นายนิโคลัส เบิร์นส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวเมื่อเดือนมิ.ย.ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังถดถอยจนอาจเป็น "ช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด" นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศได้กลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในปี 2515

สื่อระบุว่า การเจรจาครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นช่วงเวลาที่ปธน.ไบเดน เพิ่งจะฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เป็นห้วงเวลาที่ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาว่า จะยกเลิกภาษีการนำเข้า ให้กับสินค้าจีนบางรายการหรือไม่ เป้าหมายก็เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อและการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า ตลอดจนค่าครองชีพของประชาชนในสหรัฐ

 

การเจรจาดังกล่าวจึงถูกตั้งความหวังไว้สูง ทั้งในแง่การคลี่คลายปัญหาปากท้องในสหรัฐเอง การฟื้นความสัมพันธ์กับจีน และการบรรเทาภาวะเผชิญหน้าที่ตึงเครียดขั้นสุดระหว่างจีนกับไต้หวัน

 

ประเด็นอ่อนไหวกรณีไต้หวันพร้อมจุดชนวนความขัดแย้ง

จากรายงานของบลูมเบิร์กที่อ้างอิงแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามนั้น พบว่า จนถึงขณะนี้ ทางฝั่งสหรัฐเองยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี อย่างไรก็ตาม ตามกำหนดการที่มีอยู่เดิมนั้น นางเพโลซีมีแผนการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียอยู่แล้วในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งประเทศที่อยู่ในกำหนดการเยือน (ไม่รวมไต้หวันที่ยังไม่ยืนยัน) นั้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งสำนักงานใหญ่ของหน่วยบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐที่เกาะฮาวาย

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

หากนางเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันจริง เธอก็จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐคนแรก ที่ได้ไปเยือนไต้หวัน นับตั้งแต่ที่นายนิวท์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนฯสหรัฐ เคยไปเยือนครั้งหลังสุดเมื่อ 25 ปีที่แล้ว หรือในปีพ.ศ. 2540

 

นอกจากนี้ เธอยังจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสคนล่าสุดของสหรัฐที่เดินทางเยือนไต้หวัน หลังเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสหลายคนของสหรัฐได้ทยอยเดินทางเยือนไต้หวันตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และด้วยตำแหน่งของเพโลซี จะถือว่า เธอเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่สุดในรัฐบาลของปธน.โจ ไบเดน ที่ได้เยือนไต้หวัน

ปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้กับจีนก็คือ การเยือนไต้หวันของบุคคลระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐ เท่ากับเป็นการแสดงความสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย ซึ่งจีนไม่อาจยอมรับได้เนื่องจากมองว่า ไต้หวันเป็นเขตแดนใต้อาณัติของจีน ขณะที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวัน ก็มีแนวโน้มพึงพอใจกับการที่สหรัฐแสดงการสนับสนุนทางการทูตต่อไต้หวันในช่วงที่การรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เพิ่มความวิตกกังวลว่า จีนอาจจะฉวยจังหวะนี้ ทำตามคำขู่ที่ว่า จีนจะเข้าควบคุมไต้หวันด้วยการใช้กำลังทางทหาร

 

เครื่องบินจีนเหนือน่านฟ้าคือการส่งสัญญาณเตือน

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการที่ "รุนแรงและเด็ดขาด"อันเป็นมาตรการ “ขั้นสูงสุด” เพื่อตอบโต้หากนางเพโลซีเลือกที่จะเดินทางเยือนไต้หวันจริงๆ  นอกจากนี้ จีนยังเตือนถึง "ผลกระทบที่ร้ายแรง" ต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีสหรัฐ-จีน หากเหตุการณ์เดินมาถึงจุดนั้น

 

นอกจากนี้ จีนยังได้เตือนฝ่ายบริหารของปธน.โจ ไบเดน เป็นการส่วนตัวถึงความเป็นไปได้ในการตอบโต้ด้วยมาตรการทางการทหาร

 

เท่าที่ผ่านมานั้น จีนประท้วงการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ซึ่งจีนระบุว่า จะเป็นการละเมิดพันธะสัญญาของสหรัฐที่เคยให้ไว้ว่า สหรัฐจะไม่ยอมรับรัฐบาลไต้หวันอย่างเป็นทางการ

21 มิ.ย. 2565 จีนส่งเครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวน 29 ลำ เข้ามาเหนือน่านฟ้าไต้หวัน

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีข่าวครั้งแรกว่านางเพโลซีจะเยือนไต้หวันในเดือนเมษายน แต่ถูกยกเลิกทริปไปเสียก่อนเนื่องจากนางเพโลซีติดโควิด จีนได้ส่งเครื่องบินทหาร รวมถึงเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดข้ามเส้นแบ่งกลางของช่องแคบไต้หวันหลายต่อหลายครั้ง และที่เห็นชัดว่าเป็นการประท้วงสหรัฐ ก็เมื่อครั้งที่นายคีธ แครช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเศรษฐกิจของสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งหลังจากนั้นจีนก็ส่งเครื่องบินทหารหลายลำ บินข้ามเส้นกลางของช่องแคบไต้หวันเข้าไปประกาศศักดาเหนือน่านฟ้าไต้หวันติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน

 

ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐเปิดเผยว่า จีนได้เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มการรุกล้ำทางทหารเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันมากกว่าสองเท่าราว 950 ครั้งในปี 2564

 

ล่าสุด 21 มิ.ย. 2565 จีนได้ส่งเครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวน 29 ลำ เข้ามาเหนือเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน ทำให้ไต้หวันต้องส่งเครื่องบินรบเข้าสกัดและส่งสัญญาณเตือนเครื่องบินของจีนที่รุกล้ำเข้ามา เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการล่วงล้ำน่านฟ้าของไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดของจีนนับตั้งแต่ 30 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา โดยครั้งนั้นจีนเพิ่งส่งเครื่องบินรบ 30 ลำเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศไต้หวัน

 

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนอ้างเหตุผลตลอดมาว่า ที่เห็นเครื่องบินจีนเหนือน่านฟ้าไต้หวันนั้น เป็นเพียงการซ้อมลาดตระเวนของกองทัพจีนเท่านั้น ขณะไต้หวันมองว่าเป็นการ “ข่มขู่และกดดัน” เพื่อมุ่งหวังทำให้กองกำลังไต้หวันอ่อนล้า ขณะเดียวกัน จีนก็ได้ทดสอบความสามารถในการโต้ตอบของไต้หวันไปด้วยในตัว

 

ในความเป็นไปได้ที่น่ากังวลที่สุด ก็คือปักกิ่งจะโจมตีไต้หวันด้วยขีปนาวุธแบบที่คาดไม่ถึง และอาจสร้างความเสียหายต่อไต้หวันรวมถึงต่อกองทัพอากาศและกองทัพเรืออเมริกันที่กระจุกตัวอยู่ที่ฐานทัพบางแห่งทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก” ฮัล แบรนด์ส นักวิเคราะห์จากสถาบัน American Enterprise Institute หรือ AEI ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยนโยบายที่กรุงวอชิงตัน กล่าว  

 

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้สหรัฐที่มักแสดงบทบาทเหมือนเป็นพี่ใหญ่คอยปกป้องไต้หวันจากการคุกคามของจีนแผ่นดินใหญ่ จะสามารถดำเนินนโยบายป้องปรามไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการทหารบริเวณช่องแคบไต้หวัน และมีการเตรียมพร้อมมาตรการฉุกเฉินหากว่าเกิดการโจมตีจากฝ่ายจีน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการยกระดับทั้งทางโวหารและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายจีนที่เพิ่มความตึงเครียดในประเด็นไต้หวัน

 

นอกจากประเด็นไต้หวันแล้ว มีอะไรอีกที่น่าจับตา

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นซึ่งเป็นสื่อที่รายงานเรื่องการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างปธน.ไบเดน และปธน.สี เป็นแห่งแรก ระบุโดยอ้างอิงการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดในทำเนียบขาว ระบุว่า การหารือทางโทรศัพท์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะนับเป็นครั้งที่ 5 ที่ประธานาธิบดีทั้งสอง มีการสนทนากันผ่านทางโทรศัพท์

 

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (26 ก.ค.) ว่า ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันทุกเรื่อง ซึ่งนอกจากประเด็นความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวันแล้ว ยังมีประเด็นสถานการณ์สงครามในยูเครน รวมไปถึงการแข่งขันทางการค้า “นี่เป็นการประชุมทางโทรศัพท์ที่มีการวางแผนมานาน และมีวาระชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกัน” เคอร์บีกล่าว

 

ในส่วนของประเด็นการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ที่กลายมาเป็นประเด็นที่สร้างความคุกรุ่นให้กับความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนมากที่สุดในขณะนี้ จีนมีจุดยืนชัดเจนว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน การเยือนไต้หวันของนางเพโลซีเป็นเรื่องที่ “ไม่ควรเกิดขึ้น” จีนพร้อมใช้มาตรการแข็งกร้าวขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายใต้อาณัติของจีน ขณะที่สหรัฐเองก็จับสัญญาณความเดือดดาลของจีนได้ดี กำหนดการเยือนไต้หวันของนางเพโลซีจนถึงขณะนี้ จึงยังคงไม่ได้รับการยืนยัน แม้จะไม่มีการออกมาปฏิเสธจากทีมงาน (ของนางเพโลซี)  

 

ขณะเดียวกัน มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กำลังทำงานกันอย่างเงียบๆ เพื่อโน้มน้าวให้นางเพโลซี ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหากตัดสินใจดำเนินการเช่นนั้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันอยู่ในสถานการณ์ที่มีความหวั่นไหวสูง อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐต้องการอย่างยิ่งที่จะชะลอหรือยุติชั่วคราว ความเป็นปฏิปักษ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มองจีนเป็นศัตรูอันดับหนึ่งด้านการค้า

 

สหรัฐหวังว่า การยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากจีนบางรายการ ไม่เพียงเป็นการเยียวยาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดอย่างยิ่งยวดในยุครัฐบาลทรัมป์ให้คลี่คลายไปในเชิงบวก แต่ยังจะเป็นมาตรการที่ win-win ทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญคือมาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาปากท้องของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ

 

เชื่อได้ว่า การเจรจาในวันพรุ่งนี้ สหรัฐไม่ต้องการคว้าน้ำเหลวอีกแล้ว