จีนช็อก! GDP ไตรมาส 2 ทรุดเหลือ 0.4% เซ่นพิษโควิด-มาตรการล็อกดาวน์

15 ก.ค. 2565 | 04:40 น.

GDP จีนไตรมาส 2 ต่ำเป้าหลุดลุ่ย อัตราขยายตัวเหลือเพียง 0.4% เมื่อเทียบรายปี หลุดห่างเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 5.5% ปัจจัยหลักเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อนานกว่าที่คาดหมายไว้  

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานวันนี้ (15 ก.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของจีนปีนี้ ขยายตัวเพียง 0.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ระดับ 5.5% อยู่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการใช้ มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุม โรคโควิด-19

 

ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของจีนที่ขยายตัวต่ำมากครั้งนี้ ยังถือว่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะขยายตัวที่อัตรา 1% ด้วย

 

สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ จีนเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ "รุนแรงที่สุด" นับตั้งแต่ที่โรคระบาดดังกล่าวได้อุบัติขึ้นในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลให้จีนสั่งล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานานถึง 2 เดือน โดยทางการบังคับให้ประชาชนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน และสั่งควบคุมการเดินทาง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานประสบกับภาวะชะงักงัน

จีนสั่งล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานานถึง 2 เดือน

ถึงแม้ว่าต่อมา ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และเมืองอื่น ๆ ของจีนได้เริ่มอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเมืองที่กลับมาใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้น

เมื่อเร็ว ๆนี้ นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 นี้ลงสู่ระดับ 4% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5.5% เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจอย่างกว้างขวาง

 

IMF แนะเพิ่มนโยบายการเงิน-การคลัง ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ด้าน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า จีนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ และควรใช้กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

 

"เราพึงพอใจที่จีนหันมาใช้นโยบายด้านการคลังมากขึ้นในปีนี้ แต่หากรัฐบาลใช้นโยบายดังกล่าวเพิ่มขึ้นไปอีก ก็จะช่วยให้จีนสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ในมุมมองของเรานั้น นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพหากมุ่งเน้นในการสนับสนุนภาคครัวเรือน ผ่านระบบการป้องกันทางสังคมที่มีความแข็งแกร่งและโปร่งใส" นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษก IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของจีน

เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของจีนยังอยู่ในระดับต่ำ

เขายังเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของจีนซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ ก็เชื่อว่าธนาคารกลางจีนจะยังสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ ส่วนการที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปีนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง และกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 0.10% สู่ระดับ 2.85% นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564

 

ทั้งนี้ หลายเมืองของจีนได้กลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสัปดาห์นี้ ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของจีนประกาศใช้มาตรการตรวจเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่

 

นายไรซ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลังจากที่การใช้นโยบายดังกล่าวอย่างเข้มงวดได้ส่งผลให้จีนต้องล็อกดาวน์เมืองสำคัญและทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

 

"การลดภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 นั้น  จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้กับประชาชน และมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยปรับกลยุทธ์การควบคุมโควิด-19 ของจีนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดการใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรค" นายไรซ์กล่าว