เตือนธนาคาร “ลงทุนคริปโต” เสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน

11 ก.ค. 2565 | 07:18 น.

รองประธานเฟดออกโรงเตือน ธนาคารที่ลงทุนคริปโต มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน จากการที่ยังไม่มีกฎระเบียบมารองรับ อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่อาจมีช่องว่างในการก่ออาชญากรรมทางการเงิน

นางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือน ธนาคาร ที่ลงทุนใน คริปโต-สเตเบิลคอยน์ มีความเสี่ยงต่อ ความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากขาดกฎระเบียบมารองรับ และ DeFi หรือระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ก็เป็นความท้าทายใหม่ จากการที่เทคโนโลยีอาจมีช่องว่างในการก่ออาชญากรรมทางการเงิน

 

ในการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมของธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England Conference) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 ก.ค.) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งรับเชิญเข้าร่วมประชุม เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเข้มงวดการตรวจสอบกฎระเบียบในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี พร้อมเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของความล้มเหลวในตลาดคริปโต ที่ส่งผลกระทบไปยังสถาบันทางการเงินหลัก เนื่องจากขาดกฎระเบียบที่เป็นเป้าหมายสำหรับสถาบันการธนาคารและผู้ออกเหรียญสเตเบิลคอยน์อย่างชัดเจน

ลาเอล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ความไม่แน่นอนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของแพลตฟอร์มในตลาดคริปโต เห็นได้ชัดเจนจากการที่บริษัทต่างๆ ทยอยสั่งระงับการถอนเงิน (คริปโต) และนำไปสู่การล้มละลายท่ามกลางภาวะตลาดคริปโตตกต่ำ

“ผู้เล่นคริปโตรายใหญ่ที่ใช้เลเวอเรจเพื่อเพิ่มผลตอบแทน กำลังดิ้นรนเพื่อสร้างรายได้จากการถือครอง จากมาร์จิ้นที่ขาดหายไป และเผชิญกับการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด” เบรนาร์ดระบุ

 

การล่มสลายของบริษัทให้กู้ยืมคริปโต Three Arrows Capital (ธรี แอร์โรว์ส แคปปิตอล) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องกระชับช่องโหว่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มดังกล่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับการเงินแบบดั้งเดิม แพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งการเงินแบบกระจายอำนาจ และแบบรวมศูนย์ไม่ควรได้รับการปฏิบัติด้วยข้อยกเว้นที่แตกต่างกัน

 

นอกจากนี้ รองประธานเฟดยังระบุว่า DeFi (หรือ Decentralize Finance ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ที่จะตัด “ตัวกลาง” ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ออกไปเพื่อให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมลดต่ำลง) นับเป็นความท้าทายใหม่ เนื่องจากลักษณะการทำงานแบบ peer-to-peer ของระบบการเงินดังกล่าว การไม่มีตัวตนที่ต้องผ่านการตรวจสอบและอีกมากมาย ความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ คือการที่มันสามารถเป็นช่องว่างในการก่ออาชญากรรมทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

“การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีการตรวจสอบ ทำให้เราไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของเงินทุน นั่นไม่เพียงเป็นช่องว่างในการทำโจรกรรม แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการโจรกรรม การแฮ็ก และการโจมตีเพื่อเรียกค่าไถ่ด้วย” เบรนาร์ดระบุ

 

ทั้งนี้ ธนาคารมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นในคริปโตและสเตเบิลคอยน์ ตั้งแต่การเป็นสิทธิประโยชน์ของลูกค้า ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงินได้ เนื่องจากธนาคารมักทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ใช้

 

แม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างเงินคริปโตและระบบการเงินหลัก ยังไม่ถึงระดับที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเท่าที่มีความกังวล แต่ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ธนาคารที่เกี่ยวข้อง และผู้ออกสเตเบิลคอยน์ (เงินดิจิทัลที่ผูกค่ากับเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์) คือสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง