เงินเฟ้อเยอรมนี-ฝรั่งเศส พุ่งทำนิวไฮที่ระดับเกินกว่า 5%

31 พ.ค. 2565 | 08:56 น.

เงินเฟ้อเยอรมนีใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 50 ปีแล้ว จากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งไม่หยุด ทำให้อัตราเงินเฟ้อประจำปีแตะระดับ 7.9% ขณะที่ฝรั่งเศส เงินเฟ้อพุ่งทำนิวไฮที่ 5.8% สร้างแรงกดดันต่อปธน.มาครง ก่อนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนมิ.ย.

สำนักงานสถิติประเทศเยอรมนี รายงาน อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนพฤษภาคมที่ทะยานขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อประจำปีของเยอรมนีแตะระดับ 7.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 หรือเมื่อ 49 ปีที่แล้ว

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากความขัดแย้งในยูเครน และการคว่ำบาตรที่ไม่เคยมีมาก่อนกับรัสเซีย รวมถึงปัญหาการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน ที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

 

ในรายงานยังระบุด้วยว่า หากเทียบปีต่อปี ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 38.3% ในเดือนพฤษภาคม ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้น 11.1% 

อัตราเงินเฟ้อประจำปีของเยอรมนีแตะระดับ 7.9% ในเดือนพ.ค.

หนังสือพิมพ์แฮนเดลส์แบล็ต (Handelsblatt) สื่อเศรษฐกิจและการค้าของเยอรมนี มีรายงานโดยอ้างบทวิเคราะห์ล่าสุดของอลิอันซ์ เทรด ( Allianz Trade) บริษัทประกันภัยระหว่างประเทศว่า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารที่สูงขึ้นในทุกๆด้าน ทำให้เหล่าผู้บริโภคต้องแบกรับกับการขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ ในรายงานของอลิอันซ์ เทรดยังระบุด้วยว่า "สิ่งที่เลวร้ายที่สุด" ยังคงรออยู่ข้างหน้า เนื่องจากราคาอาหารปลีกปัจจุบันยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ สมาคมเกษตรกรเยอรมันยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตลาดสินค้าเกษตรอาจคงอยู่ต่อไปในปีหน้า และคาดว่าราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มขึ้น 20% ในเวลาอันใกล้นี้เช่นกัน

ย้อนอดีตเงินเฟ้อเยอรมนี
ครั้งก่อนหน้านี้ เยอรมนีเผชิญกับตัวเลขเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือน ธ.ค. 2564 ที่อัตรา 5.3% นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกสถิติดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) และเป็นครั้งที่สองที่เยอรมนีมีตัวเลขเงินเฟ้อมากกว่า 5% ทั้งนี้ เงินเฟ้ออัตราสูงเป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลเยอรมนีพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศในช่วงเวลานั้น

 

โดยรัฐบาลเยอรมนีเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเป็น 12 ยูโร หรือราว 448 บาทต่อชั่วโมง ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแรงงาน แต่นายจ้างบางส่วนมองว่าเป็นการเพิ่มภาระที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก หลังจากที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนที่พุ่งสูง

 

ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงยังทำให้เกิดความกังวลว่าร้านค้าอาจปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการตามไปด้วย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติเงินเฟ้อในประเทศ

ฝรั่งเศสนิวไฮ 5.8% 

ด้านฝรั่งเศส มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป (อียู) กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค. พุ่งขึ้นเกินคาดแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก่อนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนมิ.ย.นี้

เงินเฟ้อสร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดีมาครง ก่อนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนมิ.ย.นี้
INSEE ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.7% ทำให้อัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนอยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.4% ในเดือนเม.ย. นับเป็นการทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ฝรั่งเศสเริ่มใช้วิธีของอียูคำนวณอัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นทศวรรษ 1990


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นวาระทางการเมืองสูงสุดของฝรั่งเศส และรัฐบาลของปธน.มาครง ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการชุดใหม่เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อหลังการเลือกตั้ง


จนถึงขณะนี้ ฝรั่งเศสสามารถคงอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอียู ยกเว้นมอลตา ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการมูลค่า 25,000 ล้านยูโร ซึ่งประกอบด้วยการควบคุมราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่