เยอรมนีพร้อมร่วมคว่ำบาตร หนุนอียูแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

28 เม.ย. 2565 | 03:11 น.

ความพยายามของชาติตะวันตกในการกดดันรัสเซียจากกรณีที่รัสเซียเข้ารุกรานโจมตียูเครนมาเป็นเวลากว่าสองเดือนแล้วนั้น กำลังทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย และคราวนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรายสำคัญอย่างเยอรมนี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวานนี้ (27 เม.ย.) ว่า รัฐบาลเยอรมนี เตรียมพร้อมให้ความสนับสนุน มาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ของ สหภาพยุโรป(อียู) นับเป็นท่าทีล่าสุดที่ทางเยอรมนีไม่เคยแสดงออกอย่างชัดเจนมาก่อน ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นเพราะเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปยังต้องพึ่งพาการใช้น้ำมันจาก รัสเซีย อยู่มาก

 

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางการเยอรมนีขอให้การเปลี่ยนแปลงหรือการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียนั้นดำเนินการอย่าง "ค่อยเป็นค่อยไป" หรือเป็นลำดับขั้น (phased approach) เนื่องจากทางเยอรมนีและหลายประเทศในสหภาพยุโรปอาจต้องเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานหากไม่วางแผนรองรับไว้ให้ดี

 

ขณะนี้ อียูกำลังเตรียมดำเนินการ “มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบที่ 6” เพื่อเป็นการลงโทษรัสเซียที่เปิดฉากปฏิบัติการทางการทหารเข้าโจมตียูเครนตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยอียูกำลังมีการปรึกษาหารือรายละเอียดกับบรรดาประเทศสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไม่กี่วันข้างหน้า

รัสเซียเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป

สื่อต่างประเทศรายงานอ้างอิงคำพูดของนายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ว่า อียูเตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่เรียกกว่า "การคว่ำบาตรอันชาญฉลาด” (Smart Sanctions) ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

 

นายดอมบรอฟสกิสให้สัมภาษณ์กับเดอะไทม์สว่า กำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งที่ 6 กับรัสเซีย และหนึ่งในมาตรการที่กำลังพิจารณาอยู่คือ การคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันบางรูปแบบ โดยอียูต้องการทำในแบบที่จะเพิ่มแรงกดดันให้กับรัสเซียมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ลดความเสียหายที่อียูอาจได้รับให้เหลือน้อยที่สุด

 

“ยังไม่มีการตกลงรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียครั้งนี้ แต่อาจรวมไปถึงการค่อย ๆ ลดการนำเข้าน้ำมันรัสเซียหรือเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับการส่งออกที่มีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้” นายดอมบรอฟสกิสกล่าว

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยรัสเซียครองส่วนแบ่ง 26% ของตลาดน้ำมันนำเข้าของอียูในปี 2563 โดย 1 ใน 3 ของพลังงานจากผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเลียมของอียู จะใช้ในภาคการขนส่งจนถึงการผลิตสารเคมี

 

ยูเครนและประเทศสมาชิกอียูบางประเทศ รวมถึงโปแลนด์และลิทัวเนียต้องการระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีและฮังการี ไม่เห็นด้วยกับการระงับการนำเข้าน้ำมันในทันที แต่อยากให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป