รัสเซียเตือนอย่าผลักให้ต้องเกิด “สงครามนิวเคลียร์”

27 เม.ย. 2565 | 03:47 น.

รัสเซียออกมาพูดอีกครั้งแล้วเกี่ยวกับ “ความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์” หลังชาติตะวันตกแสดงท่าทีชัดเจนในการให้ความสนับสนุนยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย ทั้งในรูปงบประมาณและยุทโธปกรณ์ นี่เป็นเพียงคำขู่ หรือโอกาสเป็นจริงมีมากน้อยแค่ไหน

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ รัสเซีย ออกมาให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Ria Novosti สื่อรัสเซีย เมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.)ว่า ขณะนี้ความเสี่ยงในการเกิด สงครามนิวเคลียร์ นั้นมีสูงมากจริง ๆ และความเสี่ยงนี้ถือเป็นเรื่องจริงจัง  ประเทศต่างๆไม่ควรประเมินความเสี่ยงนี้ต่ำเกินไป

 

คำพูดของเขามีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุด หลังจากที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ส่งสัญญาณแข็งกร้าวในการตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเริ่มเปิดฉากการโจมตีตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา และในช่วงสัปดาห์นี้ ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา ยังมีความเคลื่อนไหวในการให้ความสนับสนุนทั้งในแง่การเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือยูเครนในการรับมือกับรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุด

เรื่องนี้หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นเพียงแค่ “คำขู่” แต่ก็ประมาทไม่ได้ อย่างที่รัสเซียกล่าวไว้ก็คือ อย่าประเมินความเสี่ยงนี้ “ต่ำเกินไป”

นายเจมส์ ฮีปปีย์ รัฐมนตรีกองทัพบกอังกฤษ เป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อในคำเตือนของนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซียที่ว่า การทำสงครามในยูเครนอาจลุกลามจนทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์

 

"ผลงานของนายลาฟรอฟตลอด 15 ปีที่ผ่านมาคือการสร้างวาทกรรมที่ทำให้ดูองอาจ ซึ่งผมไม่คิดว่าขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์" นายฮีปปีย์ยังแสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่สถานการณ์จะลุกลามถึงขั้นที่รัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองในฝั่งรัสเซีย การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมความพร้อมในระดับสูงสุดนั้น ถือว่าการใช้นิวเคลียร์อยู่ในส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การศึกครั้งนี้ และอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่รัสเซียนำมาใช้ในการ “ปราม” นาโต ที่รัสเซียมองว่า กำลังทำสงครามตัวแทนด้วยการติดอาวุธให้กับยูเครนมาใช้ยันกับรัสเซีย

ขีปนาวุธ RS-28 Sarmat ของรัสเซียสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์

“การกระทำเช่นนี้(ของนาโต) ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างแท้จริง และร้ายแรงที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์” นายลาฟรอฟ กล่าวกับสื่อท้องถิ่นเมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) เมื่อถูกถามว่า สถานการณ์ปัจจุบันสามารถเทียบได้กับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเมื่อปี 1962 หรือไม่

 

นาโตกำลังทำสงครามกับรัสเซียผ่านตัวแทนคือยูเครน และกำลังติดอาวุธให้ยูเครน” ลาฟรอฟกล่าว

การให้สัมภาษณ์ของเขามีขึ้นหนึ่งวันก่อนที่ นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ฐานทัพรัมสไตน์ในเยอรมนีเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธช่วยยูเครนรบกับรัสเซียในพื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศยูเครน ซึ่งกลายเป็นพื้นที่สมรภูมิหลักในขณะนี้

 

ออสตินเพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนเมืองหลวงเคียฟของยูเครนพร้อมกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ จากทั่วโลกมีจุดยืนเดียวกันในการสนับสนุนให้ยูเครนต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย นอกจากนี้ ในงานเดียวกัน เสนาธิการทหารของสหรัฐ ยังออกมาระบุว่า เป้าหมายสำคัญในการประชุมคือการร่วมมือเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงอาวุธหนักอย่างปืนใหญ่วิถีโค้ง เพื่อให้ยูเครนสามารถป้องกันตัวเองจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องและเด็ดขาดของรัสเซีย ทั้งยังคาดการณ์ว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าจะเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญมาก ซึ่งยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ชัยชนะในสนามรบ

 

สถานการณ์รบในปัจจุบัน

ขณะนี้ ชาติตะวันตกออกข่าวว่า หลังจากถูกตอบโต้จากกองทัพยูเครน รัสเซียต้องถอยร่นจากการบุกโจมตีทางด้านเหนือที่รวมถึงการตีกรุงเคียฟด้วย จึงได้ปรับแผนหันมาเปิดฉากบุกภูมิภาคด้านตะวันออกของยูเครน ที่เรียกว่าเขตดอนบาสส์

 

เรื่องราวดังกล่าวค่อนข้างจะแตกต่างจากฝ่ายรัสเซียที่ระบุว่า รัสเซียมีแผนบุกดอนบาสส์เป็นหลักมาตั้งแต่ต้น ส่วนการรุกทางภาคเหนือซึ่งรวมถึงกรุงเคียฟนั้น เป็นกลยุทธ์การดึงความสนใจของกองทัพยูเครนไว้ ไม่ให้ไปช่วยกองกำลังหลักของยูเครนในภาคตะวันออก ซึ่งถูกฝ่ายรัสเซียปิดล้อมเอาไว้แล้ว

 

จากการประเมินของสหรัฐนั้น การโจมตีของรัสเซียในภาคตะวันออกรัสเซียจะต้องพึ่งการโจมตีด้วยปืนใหญ่อย่างมาก และจะเคลื่อนพลภาคพื้นดินพร้อมกันจากหลายทิศทางเพื่อปิดล้อมและทำลายกองกำลังยูเครน ประมาณการณ์ว่า ทหารรัสเซียหลายหน่วยสูญเสียกำลังพลไปแล้วถึง 30% ซึ่งมากเกินกว่าจะรบต่อได้เป็นเวลานาน

ความเสียหายของฝ่ายรัสเซียในยูเครน

ขณะที่ตัวเลขการประเมินของหน่วยข่าวกรองอังกฤษระบุว่า รัสเซียสูญเสียทหารไปแล้วถึง 15,000 นาย และ ยานยนต์หุ้มเกราะ 2,000 คัน ซึ่งรวมถึงรถถัง 530 คัน ไม่นับรวมเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินขับไล่อีก 60 ลำ

 

แต่ตัวเลขจากทางฝ่ายรัสเซียเองระบุน้อยกว่านั้นมาก โดย รัสเซียเปิดเผยว่า ทหารรัสเซียเสียชีวิต 1,351 นาย และบาดเจ็บ 3,825 นาย จากการทำศึกกับยูเครน

 

เจ้าหน้าที่สหรัฐยอมรับว่า รัสเซียมีอาวุธล้ำสมัยและมีกำลังพลมากกว่ายูเครน จึงมีความพร้อมที่จะส่งกำลังเข้าไปในสนามรบเพิ่มเติม สอดคล้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมและนักเศรษฐศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกที่ฟันธงว่า มอสโกมีความพร้อมทางเศรษฐกิจในการทำสงครามกับยูเครนในระยะยาว แม้จะถูกชาติตะวันตกรวมกันคว่ำบาตรก็ตาม

 

ทั้งนี้ พวกเขามีความเห็นว่า ยูเครนเองนั้น มีขวัญกำลังใจที่ดี มีกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์และยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์ในสนามรบที่ยูเครนมีความได้เปรียบเนื่องจากรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี อีกทั้งได้รับการสนับสนุนทางอาวุธและข่าวกรองจากสหรัฐและชาติพันธมิตร

 

ข้อมูลในปี 2012 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบว่า รัสเซียอาจมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองมากที่สุดคือ 6,257 ลูก รองลงมา คือสหรัฐอเมริกา มีประมาณ 5,550 ลูก เมื่อเดือนมนาคมที่ผ่านมา นายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย จะขยายตัวกลายไปเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ตามมา "โอกาสของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด ขณะนี้กลับมาอยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้แล้ว"

 

ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องมาจากรัสเซียสั่งยกระดับการแจ้งเตือนกองกำลังนิวเคลียร์ในประเทศ ซึ่งเลขาธิการยูเอ็นเห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ “น่าหวาดกลัว”

 

นักวิเคราะห์มองว่า รัสเซียไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับยูเครน เพราะยูเครนเองไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ไว้ตอบโต้รัสเซีย แต่สงครามนิวเคลียร์จะเกิดได้กรณีเดียวคือ นาโตและสหรัฐ เปิดสงครามเต็มรูปแบบกับรัสเซีย

 

สงครามนิวเคลียร์ที่ผ่านมาในอดีตเคยมีครั้งเดียว เมื่อสหรัฐตัดสินใจใช้ระเบิดนิวเคลียร์หยุดยั้งการทำสงครามของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งบทเรียนที่ได้จากครั้งนั้นคือ ระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปกว่า 400,000 คน