เมื่อคุณภาพอากาศใน "เอเชีย" เข้าขั้นเลวร้ายที่สุดในโลก

13 เม.ย. 2565 | 17:02 น.

การที่ต้องประสบกับอาการแน่นหน้าอก เจ็บคอ หรือแสบตาบ่อยครั้ง เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจเลยสำหรับชาวเมืองหลายล้านคนในประเทศแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ เพราะเมื่อปีที่แล้วภูมิภาคดังกล่าวนี้ มีมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตรายมากที่สุดในโลก

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้โดย บริษัท IQAir ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ข้อมูลคุณภาพอากาศ แบบเรียลไทม์ ระบุว่า หลายประเทศใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เอเชียใต้ ได้รับผลกระทบจากความเข้มข้นของ ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงสุดโดยวัดจากจำนวนประชากร

 

ทั้งนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 คืออนุภาคในชั้นบรรยากาศ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (หรือ หนึ่งในล้านของหนึ่งเมตร) ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดของมนุษย์และเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง

 

กลอรี่ ดอลฟิน แฮมเมส ผู้บริหารระดับสูงของ IQAir ประจำภาคพื้นอเมริกาเหนือกล่าวว่า อันที่จริงแล้ว PM2.5 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่ามลพิษทางอากาศในรูปแบบอื่น ๆ

คุณภาพอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศของเอเชีย

ประเทศไหนบ้างในเอเชียที่คุณภาพอากาศ “น่าห่วงที่สุด”

ข้อมูลจากเครือข่ายทั่วโลกของทางบริษัท IQAir ชี้ว่า บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศโดยค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่เป็น “อันตรายที่สุด” รองลงมาคือ สาธารณรัฐชาด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน และอินเดีย จัดอยู่ในกลุ่ม “5ประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด”

สำหรับประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 45 ของประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด (จากทั้งหมด 117 ประเทศ) ขณะที่ประเทศอื่น ๆใน อาเซียน ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่กว่าไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 17) เมียนมา (อันดับที่ 31) เวียดนาม (อันดับที่ 36) ลาว (อันดับที่ 41)

 

ส่วนชาติอาเซียนที่คุณภาพอากาศดีกว่าไทย ได้แก่ กัมพูชา (อันดับที่ 48) มาเลเซีย (อันดับที่ 50) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 64) และสิงคโปร์ (อันดับที่ 74)

 

ดูทั้ง 117 อันดับ คลิกที่นี่

 

ขณะที่ “กลุ่มเมืองหลวง” ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศมากที่สุดนั้น ได้แก่

  • กรุงธากาในบังคลาเทศ
  • เมืองเอ็นจาเมนาในสาธารณรัฐชาด
  • ดูชานเบของทาจิกิสถาน
  • และมัสกัต แห่งประเทศโอมาน

 

กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียก็ถูกจัดอยู่ในอันดับสุดท้ายของรายชื่อเมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศดี

สำหรับประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ คือประเทศที่อยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ไปจนถึงนิวแคลิโดเนีย ดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งมีเมืองนูเมอาซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์

 

นอกจากนี้ ยังมีเวอร์จินไอส์แลนด์ของสหรัฐอเมริกา เปอร์โตริโกในแถบแคริบเบียน และเคปเวิร์ดในมหาสมุทรแอตแลนติกนอกชายฝั่งแอฟริกา ที่มีอากาศบริสุทธิ์ด้วยเช่นเดียวกัน

 

ดอลฟิน แฮมเมส ผู้บริหารระดับสูงของ IQAir ประจำภาคพื้นอเมริกาเหนือ กล่าวกับวีโอเอว่า มีการระบุพื้นที่ที่ถูกมองข้ามไป 3 ภูมิภาคด้วยกัน ซึ่งได้แก่ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ทั้งนี้ ในบางส่วนของประเทศกำลังพัฒนายังขาดการเฝ้าติดตามที่เพียงพอ นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา (2564) ก็คือ มีการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น

อีกปัจจัยที่ทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ก็คือมีการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น

ท่าทีของ WHO และแนวทางแก้ไขปัญหา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ลดค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 ที่กำหนดไว้ลงครึ่งหนึ่งจาก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยระบุว่าการลดค่าเฉลี่ยนี้จะป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนได้หลายล้านคน

 

รอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นด้วยกับแนวทางใหม่นี้ แต่ยังกังวลว่าบางประเทศอาจจะมีปัญหาในเรื่องการดำเนินการ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ต่างล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่เก่ากว่า และเข้มงวดน้อยกว่า

 

รายงานประจำปีของ IQAir ซึ่งเริ่มมีขึ้นในปี 2017 (พ.ศ.2560) ได้อ้างอิงจากข้อมูลคุณภาพอากาศค่าฝุ่น PM2.5 จาก 6,475 เมืองใน 117 ประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศตามกฎระเบียบและมีต้นทุนต่ำหลายหมื่นแห่งที่ดำเนินการโดยรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันวิจัย ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นพลเมืองทั่วโลกอีกด้วย