ครม.ศรีลังกาไขก๊อกยกคณะ 26 คน เซ่นม็อบวิกฤตเศรษฐกิจ

04 เม.ย. 2565 | 02:17 น.

รัฐมนตรีศรีลังกาลาออกยกคณะรวม 26 คน เว้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีซึ่งเป็นสองพี่น้อง สังเวยประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้า บ้านเมืองขาดแคลนทั้งสินค้า อาหาร และพลังงาน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์ความไม่สงบใน ประเทศรีลังกา ซึ่งกำลังประสบ ปัญหาเศรษฐกิจ ขั้นรุนแรงจนนำไปสู่การงดจ่ายกระแสไฟฟ้าวันละ 13 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนที่เดือดดาลกับการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ออกมาก่อเหตุประท้วงดุเดือดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ

 

ล่าสุด รัฐมนตรีทั้งหมด 26 คนได้ยื่นเอกสารขอลาออกจากตำแหน่งแล้ววานนี้ (3 เม.ย.) ยกเว้นนายมหินทะ ราชปักษะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายของประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ

ทั้งนี้ นายดิเนศ กุนาวาร์ดีนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการศรีลังกา เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า คณะรัฐมนตรีได้ส่งจดหมายขอลาออกต่อนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่น เป็นที่คาดหมายว่า ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยบางคนอาจเป็นรัฐมนตรีในชุดเก่าที่ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่ง

ด้าน นายนามัล ราชปักษะ รัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและการกีฬา บุตรชายของนายมหินทะ (นายกรัฐมนตรี) และเป็นหลานของนายโคฐาภยะ (ประธานาธิบดี) ซึ่งยื่นขอลาออกด้วยเช่นกัน ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า ตัวเขาเองหวังว่าการลาออกของคณะรัฐมนตรีจะช่วยให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตัดสินใจสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและรัฐบาล

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 เม.ย. หนึ่งวันหลังประชาชนจำนวนมากรวมตัวประท้วงด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ และยังมีการชุมนุมประท้วงประปรายในเมืองอื่น ๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล

ประชาชนศรีลังกาประท้วงขับไล่รัฐบาล

นอกจากการสั่งประกาศเคอร์ฟิว 36 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในวันเสาร์ (2 เม.ย.) จนถึง 6.00 น. ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยห้ามมิให้ผู้ใดปรากฏตัวอยู่บนถนนสาธารณะ, ในสวนสาธารณะ, บนรถไฟ หรือบนชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางการแล้ว รัฐบาลศรีลังกายังได้สั่งบล็อกการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดีย  ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

นอกจากนี้ วอตส์แอป (WhatsApp) ก็ล่มอีกด้วย โดยผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้รับข้อความว่า "เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม"

 

มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการประท้วงครั้งใหม่ หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผารถใกล้กับที่พักส่วนตัวของประธานาธิบดีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (31 มี.ค.) หลังจากนั้น ทางการได้ส่งทหารเข้าประจำการในพื้นที่และมอบอำนาจให้สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ

จากการชุมนุมโดยสงบกลายเป็นความรุนแรง

ทั้งนี้ ประเทศศรีลังกากำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จนส่งผลให้ไฟดับทั้งประเทศเป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน ตลอดจนเกิดภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง อาหาร และยา เป็นชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้นมา

 

อ่านเพิ่มเติม: ชาวศรีลังกาเดือดเศรษฐกิจล่ม! ฮือประท้วงใหญ่ขับไล่ประธานาธิบดี

 

แม้ว่าการประท้วงเมื่อวันพฤหัสฯ (31 มี.ค.) จะเริ่มด้วยความสงบ เป็นการชุมนุมบริเวณด้านนอกบ้านพักของประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ แต่ต่อมาความรุนแรงก็เริ่มขึ้นหลังจากที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำสลายม็อบ และมีการทุบตีประชาชน ผู้ประท้วงตอบโต้ตำรวจด้วยการปาหินใส่ ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรายงานจากทางการว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 20 รายได้รับบาดเจ็บระหว่างการปะทะ

 

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ (1 เม.ย.) ผู้ประท้วง 53 คนถูกจับกุม โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าช่างภาพจากสำนักข่าว 5 คนถูกควบคุมตัวและถูกทรมานที่สถานีตำรวจ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ รัฐบาลศรีลังกากล่าวว่าจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริง

 

แม้จนถึงขณะนี้ การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางการปราบปรามและเคอร์ฟิว โดยผู้ชุมชุมได้กระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ผู้ประท้วงในเมืองหลวงถือป้ายเรียกร้องให้ปธน.ลาออก โดยการประท้วงครั้งนี้ถือเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของความนิยมในตัวปธน.ราชปักษะ ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้งในปี 2562