อัพเดทวิกฤตยูเครน-รัสเซีย เกิดอะไรขึ้นบ้างในรอบ 24 ชั่วโมง

24 ก.พ. 2565 | 01:24 น.

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นว่า ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้นใกล้ปะทุเต็มที

ประมวลสถานการณ์ล่าสุด ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเกี่ยวกับ วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีอุณหภูมิเดือด 

 

รัสเซียอพยพจนท.จากสถานทูตในยูเครน พร้อมปลดธงชาติลงจากเสา

สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานวานนี้ (23 ก.พ.) ว่า รัสเซียได้เริ่มอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศแผนอพยพฉุกเฉิน

 

ช่วงบ่ายวันเดียวกันตามเวลาในยูเครน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ธงชาติรัสเซียไม่ได้โบกสะบัดอยู่เหนือสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงเคียฟอีกต่อไป ทั้งนี้ การอพยพเจ้าหน้าที่ทูตรัสเซียมีขึ้นหลังจากที่ยูเครนประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วัน และประกาศเกณฑ์ทหารกองหนุนเพื่อรับมือกับการโจมตีจากรัสเซีย ขณะที่วุฒิสภารัสเซียมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้กองทัพรัสเซียออกปฏิบัติการนอกประเทศเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

 

ยูเครนประกาศภาวะฉุกเฉิน-เตือนพลเมืองเดินทางออกจากรัสเซีย “ทันที”

ด้านยูเครน กระทรวงการต่างประเทศยูเครนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (23 ก.พ.) เตือนให้ชาวยูเครนรีบเดินทางออกจากรัสเซีย “โดยทันที” และเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังรัสเซีย โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า ความก้าวร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของรัสเซียต่อยูเครนอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการให้ความช่วยเหลือจากสถานกงสุลในสหพันธรัฐรัสเซีย “เราขอย้ำว่า การละเลยคำแนะนำเหล่านี้อาจสร้างความซับซ้อนต่อการให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อพลเมืองชาวยูเครนในสหพันธรัฐรัสเซีย"

แผนที่สีเหลืองแสดงที่ตั้งโดเนตสก์ , ลูฮันสก์  (ทางตะวันออก) และไครเมีย (ทางใต้) ที่ประกาศตัวเป็นรัฐอิสระแยกจากยูเครน

ในวันเดียวกันนายโอเลกซี ดานิลอฟ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเครน เปิดเผยว่า ยูเครนจะประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 30 วัน และอาจมีการต่ออายุออกไปอีก 30 วันหลังจากนั้น โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้จะครอบคลุมทุกพื้นที่ในยูเครน นอกเหนือจากสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (DNR) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (LNR) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน และอยู่ภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินมานับตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

 

การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 วันวุฒิสภารัสเซียมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถใช้กองทัพรัสเซียออกปฏิบัติการนอกประเทศได้เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

 

และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือการรุกราน กองทัพยูเครนได้ประกาศเกณฑ์ทหารกองหนุนสำหรับชาวยูเครนที่มีอายุ 18-60 ปี โดยมีกำหนดรับใช้ชาติเป็นเวลา 1 ปี ตามกฤษฏีกาที่มีการลงนามโดย ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน

อังกฤษยันพร้อมคว่ำบาตรเพิ่มเติมเพื่อกดดันรัสเซีย

นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวที่กรุงลอนดอนวานนี้ (23 ก.พ.) ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีความมุ่งมั่นที่จะรุกรานยูเครน โดยจะทำการโจมตีกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศ ด้วยเหตุนี้ อังกฤษยังคงเตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย หลังจากที่หลายฝ่ายออกมาโจมตีว่ามาตรการที่ประกาศไปเมื่อวันอังคาร (22 ก.พ.) ยังอ่อนเกินไป ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ถูกกล่าวถึงนั้น คือการคว่ำบาตรธนาคาร 5 แห่งของรัสเซีย ได้แก่ ธนาคารรอสซิยา, ไอเอส แบงก์, เจเนอรัล แบงก์, พรอมสวียาซแบงก์ และแบล็คซี แบงก์ รวมทั้งการคว่ำบาตรนักธุรกิจแถวหน้าของรัสเซียอีก 3 คน

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาหลายรายของอังกฤษมองว่า มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว “เบาเกินไป” ซึ่งบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของรัฐบาลอังกฤษ ในยามที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรง

 

 

อียูแบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัสเซีย มีผลทันที

มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประกาศวานนี้ (23 ก.พ. แต่เป็นเช้าวันนี้ 24 ก.พ.เวลาไทย) พุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย และธนาคารบางแห่ง รวมทั้งสมาชิกรัฐสภารัสเซียที่ได้ลงมติเห็นชอบต่อการอนุมัติร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครนและประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย

 

ผู้ที่มีรายชื่อถูกคว่ำบาตรดังกล่าว จะถูกอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในอียู และจะไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศสมาชิกอียู  อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ไม่อยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรครั้งนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ อียูยังคว่ำบาตรธนาคารบางแห่งของรัสเซียที่ให้การสนับสนุนกองทัพรัสเซีย เพื่อให้รัสเซียไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอียู EU

 

มาตรการคว่ำบาตรของอียูครั้งนี้ ถือเป็นการคว่ำบาตรรอบแรก ก่อนที่จะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นตามมา หากประธานาธิบดีปูตินสั่งการให้กองทัพรัสเซียทำการโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ