สหรัฐจ่อขยายมาตรการฉุกเฉินทั่วประเทศเหตุความเสี่ยงโควิดยังสูงน่าห่วง

21 ก.พ. 2565 | 02:25 น.

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุข ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเปิดเผยว่า สหรัฐจะขยายการบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินทั่วประเทศต่อไปอีกหลังจากวันที่ 1 มี.ค.นี้

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จำนวนชาวอเมริกันมากกว่า 900,000 คนที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นั้น ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องรับมือกับโรคระบาดต่อไปด้วยขีดความสามารถอย่างเต็มที่ของรัฐบาลกลาง "ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนิน มาตรการฉุกเฉินทั่วประเทศ" ปธน.ไบเดนระบุในจดหมายที่ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วในเดือนมี.ค. 2563 เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณฉุกเฉิน 50,000 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ เว้นเสียแต่ว่าภายใน 90 วันก่อนถึงวันครบกำหนดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น  ประธานาธิบดีจะส่งหนังสือแจ้งไปยังสภาคองเกรสโดยระบุว่า จะขยายเวลาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปจากวันที่ครบกำหนด ซึ่งในครั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้ตัดสินใจที่จะส่งหนังสือแจ้งไปยังสภาคองเกรสขอขยายเวลาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 

เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสถานการณ์โควิดยังไม่บรรเทาเบาบางลง  รัฐบาลจ่อขยายภาวะกึ่งฉุกเฉินสกัดโควิดใน 17 จังหวัดถึงวันที่ 6 มี.ค.นี้

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า คณะทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ขยายการประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 6 มี.ค. ในพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งรวมถึงจังหวัดโอซากา เกียวโต และฟูกุโอกะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมกับยกเลิกภาวะกึ่งฉุกเฉินใน 5 จังหวัดในวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

คณะทำงานเฉพาะกิจได้ตัดสินใจเรื่องการขยายภาวะกึ่งฉุกเฉินอย่างเป็นทางการในที่ประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ 31 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงกรุงโตเกียวยังคงบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปจนถึงเดือนมี.ค. ซึ่งจะเปิดทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการให้ร้านอาหารและผับบาร์ปิดให้บริการเร็วขึ้น รวมถึงงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์