“รถถังรัสเซียไม่กลัวโคลน” ถอดรหัสความหมาย ประโยคนี้มีหนาว

19 ก.พ. 2565 | 04:45 น.

นักวิเคราะห์การทหารเชื่อกองทัพรัสเซียพร้อมบุกยูเครนทุกเวลา ในรัสเซียมีการใช้คำพูดว่า “รถถังรัสเซียไม่กลัวโคลน” อย่างแพร่หลาย จนมีการใช้ถ้อยคำดังกล่าวเป็นชื่อรายการทางโทรทัศน์ รวมทั้งเป็นข้อความที่ชาวรัสเซียมักเขียนอยู่บนกระจกหน้าต่างรถของตนด้วย

คำพูดที่ว่า “รถถังรัสเซียไม่กลัวโคลน” (Tanks don’t fear mud.) นี้ ยังอาจสะท้อนถึง ยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซีย ว่าพร้อมจะส่งกำลังเข้า บุกยูเครน ได้ในทุกสภาพอากาศและสถานการณ์เช่นกัน

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวเตือนว่า ขณะนี้รัสเซียอยู่ในฐานะพร้อมจะบุกยูเครน “หากสภาพพื้นดินในบริเวณทางเหนือของกรุงเคียฟยังแข็งตัว และไม่เป็นโคลนตมจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น”

 

ทั้งนี้ กรุงเคียฟ (Kyiv) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครนอยู่ห่างจากพรมแดนด้านที่ติดกับประเทศเบลารุสเพื่อนบ้านทางเหนือและเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซียเพียง 75 กิโลเมตรเท่านั้น และขณะนี้รัสเซียก็กำลังร่วมซ้อมรบอยู่กับเบลารุส

นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัสเซียพร้อมบุกยูเครนทุกสภาพอากาศ

คำกล่าวข้างต้นของประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้เป็นครั้งแรกที่สะท้อนความเชื่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันที่ว่า รัสเซียต้องอาศัยสภาพพื้นดินที่แข็งตัวเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้านกำลังพลทางบก และอาจจะเป็นเหตุผลที่มาของการคาดคะเนว่า รัสเซียอาจส่งกำลังเข้าบุกยูเครนในไม่ช้า คือภายในช่วงฤดูหนาวนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนที่ติดตามศึกษายุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคงของรัสเซียเชื่อว่า กองทัพรัสเซียนั้น มียุทโธปกรณ์อื่น ๆ เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิดและจรวด นอกเหนือจากรถถังและรถหุ้มเกราะ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานสำหรับสภาพพื้นดินที่เป็นโคลนตม ดังนั้น รัสเซียจึงไม่ต้องกลัวเรื่องสภาพอากาศที่จะอุ่นขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะส่งผลให้สภาพพื้นดินเป็นหลุมเป็นบ่อ และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับการเคลื่อนพลของรถถังโดยทั่วไป

 

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเหล่านี้เชื่อว่า รัสเซียอาจเปิดฉากการรุกด้วยการโจมตีทางอากาศและการยิงจรวดโดยมีเป้าหมายหลักคือที่ตั้งทางทหารของยูเครน

“รถถังรัสเซียไม่กลัวโคลน” ถอดรหัสความหมาย ประโยคนี้มีหนาว

นายมีโคลา ซันนูรอฟสกี นักวิเคราะห์ทางด้านการทหารจากสถาบันคลังสมอง Razumkov Center ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เชื่อว่า หากประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเริ่มโจมตี รถถังกับเรือรบจะไม่ใช่กำลังที่อยู่ในแนวหน้า แต่จะเป็นอากาศยานและจรวดขีปนาวุธมากกว่า โดยเป้าหมายในลำดับแรกน่าจะเป็นระบบป้องกันตนเองทางอากาศและระบบต่อต้านขีปนาวุธของยูเครน รวมทั้งที่ตั้งกองบัญชาการทหารและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ

หากรัสเซียสามารถทำลายเป้าหมายเหล่านี้ลงได้แล้ว กองทัพรัสเซียก็จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทางอากาศและมีความเหนือกว่าสำหรับกำลังทั้งทางบกและทางเรือด้วย

 

นักวิเคราะห์ด้านการทหารของยูเครนบางคนยอมรับว่า ระบบป้องกันตนเองทางอากาศของยูเครนนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือหากมีการบุกโจมตีอย่างหนักจากรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลยูเครนจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรชาติตะวันตกสำหรับระบบป้องกันตนเองทางอากาศที่ทันสมัยมากขึ้น นอกเหนือไปจากอาวุธภาคพื้นดินซึ่งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ กับประเทศอื่นๆ ได้ให้ความสนับสนุนไปก่อนแล้ว

 

ซันนูรอฟสกี ให้ความเห็นว่า วิธีการเดียวที่ยูเครนสามารถจะใช้เพื่อยับยั้งการรุกรานของรัสเซียได้ก็คือท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตกที่พร้อมจะสนับสนุนยูเครน รวมทั้งความพร้อมของชาวยูเครนนับล้านคนที่จะยืนหยัดต่อสู้กับรัสเซียจนวันสุดท้าย

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางด้านรัสเซียเองก็ได้ปฏิเสธมาโดยตลอดเรื่องแผนจะส่งทหารเข้าบุกยูเครน นอกจากนี้ ทำเนียบเครมลินยังได้บอกปัดแนวคิดที่ว่ากองทัพรัสเซียต้องอาศัยสภาพพื้นดินที่แน่นและแข็งตัวไม่เป็นโคลนตมเพื่อเปิดฉากการรุก

 

นายคอนสแตนติน ซิฟคอฟ นักวิเคราะห์ด้านการทหารของรัสเซียอีกคนหนึ่ง ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าจะมีการใช้กำลังทางบกนั้น รถถังของรัสเซียก็มีน้ำหนักเบากว่ารถถังของชาติตะวันตกมากและจะไม่ติดหล่มได้ง่ายๆ  “รถถังของเรามีความพร้อมมากกว่าสำหรับการเคลื่อนตัวบนพื้นที่ๆ เป็นโคลนตม” ซิฟคอฟยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าพื้นดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อนั้น จะเป็นอุปสรรค ก็สำหรับรถถังของประเทศตะวันตกเท่านั้น ไม่ใช่รถถังของรัสเซีย

 

ส่วนในแง่ของกำลังทางเรือนั้น เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้แพร่ภาพเรือรบจากกองเรือทะเลดำของรัสเซียจำนวนกว่า 30 ลำที่ออกเดินทางไปซ้อมรบในทะเลทางใต้ของยูเครน ขณะที่ทางฝ่ายยูเครนเองมีเพียงเรือขนาดเล็กในกองเรือยามฝั่งซึ่งไม่สามารถจะรับมือกับกองกำลังนาวีของรัสเซียที่เหนือกว่าได้ เนื่องจากยูเครนได้สูญเสียกำลังทางเรือส่วนใหญ่ไปแล้วหลังจากที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการสนับสนุนกลุ่มกบฎแยกดินแดนไครเมียจากยูเครนและฝักใฝ่รัสเซีย เข้าจู่โจมและผนวกคาบสมุทรไครเมียที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน เข้าไปอยู่ภายใต้อาณัติปกครองของรัสเซียอย่างผิดกฎหมายเมื่อปี 2557

 

โดยเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2557 รัฐสภาไครเมียประกาศอิสรภาพจากยูเครนอย่างเป็นทางการ และขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเต็มตัว และรัสเซียก็ได้รับรองเอกราชของไครเมียในวันเดียวกันนั้น ขณะที่รัฐสภายูเครนประกาศว่า ไครเมียเป็นเพียงดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ปีเดียวกัน

 

มองย้อนกลับมาในเหตุการณ์ปัจจุบัน กำลังเกิดเหตุปะทะกันเป็นวันที่สองในภูมิภาคดอนบาสซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งทางภาคตะวันออกของยูเครน ระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย สหรัฐฟันธงว่า นี่เป็นการจัดฉากของรัสเซียอีกครั้ง เพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างล่าสุดในการที่เข้าโจมตียูเครนเหมือนกับที่รัสเซียเคยทำกับไครเมียในปี 2557 ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ ทั้งโลกต่างเฝ้าจับตาด้วยใจระทึก

 

ข้อมูลอ้างอิง