เบียร์ “คิริน” ประกาศถอนยวงลงทุนจากเมียนมาอย่างเป็นทางการ

16 ก.พ. 2565 | 11:50 น.

คิริน โฮลดิ้งส์ (Kirin Holdings) ผู้ผลิตเบียร์ “Kirin” (คิริน) จากประเทศญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวจากการร่วมลงทุนทำธุรกิจกับรัฐบาลทหารเมียนมาแล้ว โดยคาดว่ากระบวนการถอนการลงทุนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้

การตัดสินใจระงับการร่วมทุนและถอนธุรกิจออกมาจากประเทศเมียนมาของ บริษัท คิริน โฮลดิ้งส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเบียร์ญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาผ่านไปราว 1 ปี (เหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนครบรอบ 1 ปีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา) โดยในแถลงการณ์ของคิรินที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ระบุว่า

 

บริษัทได้มีการประชุมบอร์ดบริหารและมีมติที่จะถอนตัวจากการทำธุรกิจใน เมียนมา แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คิรินฯ ได้ร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทท้องถิ่นคือ MEHPCL หรือ Myanmar Ecnomic Holdings Public Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งสองฝ่ายก่อตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ เมียนมา บริวเวอรี จำกัด (Myanmar Brewery Ltd.)

ผู้บริหารคิริน โฮลดิ้งส์ แจ้งมติบอร์ดต่อตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายโยชิโนริ อิโซซากิ ประธานและซีอีโอของบริษัทคิริน โฮลดิ้งส์ แสดงความกังวลอย่างมากต่อการกระทำของกองทัพเมียนมา ซึ่งถือว่าขัดต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท

 

ทั้งนี้ คิรินฯ คาดหมายจะดำเนินกระบวนการถอนธุรกิจออกจากเมียนมาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับหุ้นส่วนและยื่นเรื่องขอคำสั่งศาลเพื่อการนี้ตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา  

ในจดหมายของคิรินฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดรัฐประหารได้ไม่กี่วัน ทางคิรินฯ ได้แสดงความเสียใจที่ทหารยึดอำนาจในเมียนมา ซึ่งขัดต่อนโยบายสิทธิมนุษยชนของคิริน บริษัทมีการระงับทุนในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งก็คือการระงับการให้บริการและการจัดการทุนให้กับรัฐบาลทหาร

 

คิรินฯ ระบุว่า บริษัทได้พยายามใช้ทุกมาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกับหุ้นส่วนอย่าง MEHPCL ด้วย  ซึ่งในกระบวนการหารือกับ MEHPCL นั้นครอบคลุมถึงการหาวิธียุติการร่วมทุนให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และอาจพิจารณาถึงทางเลือกในการขายต่อสินทรัพย์ที่ลงทุนไปให้กับภาคีที่สามด้วย

 

การถอนตัวของคิรินฯ ครั้งนี้ สะท้อนหลักการว่า บริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานในท้องที่ โดยจะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาประเด็นนี้พร้อมกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

หลังจากที่เมียนมาเปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยรัฐบาลทหารสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2554 นั้น บริษัทต่างชาติหลายรายซึ่งรวมถึงคิรินฯ ก็ได้เข้ามารุกลงทุนเปิดตลาดเมียนมาอีกครั้ง เพื่อสร้างโอกาสจากตลาดที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก  แต่นับจากทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ธุรกิจต่างประเทศหลายแห่งที่เข้ามาลงทุน ก็ประกาศถอนตัวกันออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ท่าทีของคิรินฯครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจจะยุติการร่วมทุนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีทหารเมียนมาเข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงหรือเป็นบริษัทของรัฐบาลทหาร

 

ทั้งนี้ บริษัท เมียนมา บริวเวอรี จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เบียร์ยี่ห้อ Myanmar Beer ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เกือบ 80% ในเมียนมา (ตามข้อมูลของบริษัทคิรินเมื่อปี 2561)

 

บริษัทเริ่มเข้าไปลงทุนในเมียนมาตั้งแต่ปี 2558 โดยบริษัทร่วมทุนเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์หลากหลายยี่ห้อ ซึ่งนอกจาก Myanmar Beer แล้ว ยังมี Myanmar Premium และ Andaman Gold ซึ่งเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมในเมียนมาอีกด้วย 

 

คิรินฯ ตัดสินใจถอนยวงออกจากโครงการร่วมทุนในเมียนมา

นายยาดานาร์ หม่อง โฆษกองค์กร Justice For Myanmar ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของคิรินฯ พร้อมยกย่องผู้ผลิตเบียร์รายนี้ที่รับฟังเสียงของประชาชนเมียนมาและประชาคมนานาชาติ

 

ในรายงานผลประกอบการของคิรินฯ ที่เปิดเผยในวันจันทร์ (14 ก.พ.) ทางบริษัทระบุว่า ตลาดเบียร์ในเมียนมาหดตัวลง 20% เมื่อปี 2564 ขณะที่ยอดขายของบริษัท เมียนมา บริวเวอรี ลดลงราว 30% ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิดและปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

 

นอกจากคิรินฯ แล้ว นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วเป็นต้นมา มีบริษัทต่างชาติหลายรายที่ตัดสินใจประกาศถอนการลงทุน หรือกำลังพิจารณาถอนตัวออกจากเมียนมา อาทิ บริษัท โททาล เอนเนอร์จีส์ (TotalEnergies) ของฝรั่งเศส บริษัท บริติช อเมริกัน โทแบคโค (British American Tobacco) และบริษัทโทรคมนาคม เทเลนอร์ (Telenor) ของนอร์เวย์