เผยข้อมูลรัฐประหารเมียนมาครบรอบ 1 ปี ปชช.สังเวยชีพ 1.5 พันคน ติดคุกนับหมื่น

01 ก.พ. 2565 | 08:51 น.

1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมาได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนพร้อมจับตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกักตัวไว้ตั้งแต่บัดนั้น วันนี้ครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหาร สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

เนื่องในวัน ครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารในเมียนมา องค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงผลกำไร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เหตุ รัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปีที่ผ่านมา (2564) กองทัพเมียนมา ได้สังหารประชาชนไปกว่า 1,500 คน และมีประชาชนถูกจับกุมไปเกือบ 12,000 คน ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับบุคคลชาวเมียนมา 7 ราย และองค์กรอีก 2 แห่งที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารเมียนมา

 

ในวันเดียวกันนี้ (1 ก.พ.) กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาได้เดินหน้าทำกิจกรรม "ประท้วงเงียบ" (Silent Protest) เพื่อแสดงพลังต่อต้านการทำรัฐประหาร บรรยากาศในเมืองใหญ่หลายแห่ง อาทิ นครย่างกุ้ง เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ถนนปราศจากผู้คน สภาพไม่ต่างจากเมืองที่ถูกทิ้งร้าง หลังกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเดินหน้าทำกิจกรรม "ประท้วงเงียบ" ด้วยการหยุดอยู่กับบ้าน ปิดธุรกิจร้านค้า และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อแสดง “อารยะขัดขืน” ต่อต้านการทำรัฐประหาร แม้ว่าฝั่งรัฐบาลทหารจะออกมาขู่จำคุกผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในวันนี้ก็ตาม

ขณะที่เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) สภาความมั่นคงและป้องกันตนเองของเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินออกไปอย่างเป็นทางการจนถึงวันที่ 31 ก.ค.

 

ทั้งนี้ นายมินต์ ส่วย รักษาการประธานาธิบดีเมียนมา ได้อนุมัติการขยายเวลาดังกล่าวตามคำขอของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ ความปลอดภัยของประชาชน และสร้างสันติภาพซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมา (MRTV) รายงานโดยอ้างคำพูดของผู้นำกองทัพเมียนมาว่า "ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ เช่น รัฐกะยา รัฐชิน และเขตภูมิภาคสะกาย เรากำลังพยายามเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา"

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา

ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 กำหนดให้ผู้นำกองทัพต้องขอความเห็นชอบจากประธานาธิบดีในที่ประชุมสภาก่อนที่จะขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำกองทัพของเมียนมาได้ให้คำมั่นว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนส.ค. ปีหน้า (2566)

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า  พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีที่ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่า ผู้นำทหารเมียนมาจะยังคงเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ผันผวนในปีที่สองจากแรงกดดันของนานาชาติ โดยล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับบุคคลชาวเมียนมา 7 ราย และองค์กรอีก 2 แห่งที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหาร