สื่อนอกมอง “สารัชถ์” ยอดนักบริหาร ดันกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ เทียบชั้น Big5   

11 พ.ย. 2564 | 05:50 น.

รายงานชุด The Big Story ของนิคเคอิ เอเชีย สื่อใหญ่ญี่ปุ่น ได้นำเสนอเรื่องราวของ สารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ผ่านบทความ Thailands billionaire boom: the rise of Sarath Ratanavadi บอกเล่าความเป็นมาของเจ้าพ่อพลังงานที่ปัจจุบันครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย

นิคเคอิ เปิดประเด็นว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี พุ่งขึ้นสู่ฟากฟ้ามหาเศรษฐีไทยภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีในฐานะ เจ้าพ่อด้านพลังงาน เขาโดดเด่นที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและก้าวเข้าสู่แวดวงไฮโซแถวหน้าของไทยในวัยเพียง 55 ปี

 

สื่อญี่ปุ่นระบุว่า สารัชถ์โดดเด่นเป็นดวงดาวพุ่งแรงในสังคมไทย ที่โดยปกติแล้วความมั่งคั่งถ่ายทอดเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และคอนเนคชันเส้นสายทางการเมืองก็สำคัญพอ ๆกับความสามารถและฝีไม้ลายมือในเชิงธุรกิจ

 

สำหรับสารัชถ์ ไม่มีข้อมูลมากนักว่าเขาร่ำรวยมาอย่างไรก่อนที่จะปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บส์ในปี 2018 หรือ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็น 1 ปีหลังจากที่สารัชถ์นำ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยในแง่มูลค่าตามราคาตลาด เปิดขายหุ้นสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) มาในปีนี้ (2564) 

 

เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยเป็นลำดับที่5 ในประเทศไทยด้วยสินทรัพย์มูลค่า 8,900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 292 ล้านบาทจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ประจำปี 2564

สารัชถ์ รัตนาวะดี

เควิน เฮวิสัน นักวิชาการออสเตรเลียที่คร่ำหวอดและเชี่ยวชาญการเมืองในประเทศไทยให้ความเห็นกับ “นิคเคอิ” ว่า เมื่อตอนที่เห็นชื่อของสารัชถ์ปรากฏในทำเนียบมหาเศรษฐีของฟอร์บส์เป็นครั้งแรกในปี 2018 นั้น เขาค่อนข้างประหลาดใจและสงสัยอยู่ว่าสารัชถ์เป็นใครมาจากไหน จู่ ๆ ก็ปรากฏชื่อขึ้นมาสู่อันดับ Top5 อย่างรวดเร็ว   

ขณะที่คริส เบเกอร์ นักวิชาการคนดัง ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย ให้มุมมองว่า สารัชถ์ไม่ใช่เศรษฐีระดับพันล้านธรรมดาๆ ในหมู่เศรษฐีพันล้านของไทยที่มีอยู่มากกว่า 50 คน 

 

“นิคเคอิ” ระบุว่า โครงสร้างทางการเมืองของไทยนั้นผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมา 13 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1932 (พ.ศ.2475) ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องพบกับความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นรากหญ้าในต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนหมู่มาก กับคนเมืองที่ร่ำรวยกว่า มีอำนาจทางการเงินและสถานะทางสังคมที่ดีกว่า ทั้งในกรุงเทพและเมืองใหญ่อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 

 

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยรายเดือนของคนไทยในปี 2014 อยู่ที่ระดับ 17,000 บาท และเพิ่งขยับขึ้นมาเป็นเฉลี่ย 22,000 บาทในปี 2020  

สารัชถ์ในบทความของนิคเคอิ เอเชีย  

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบว่า ความมั่งคั่งของไทยนั้นกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ทั้งนี้ สินทรัพย์ของมหาเศรษฐี 40 อันดับแรกในประเทศไทยเมื่อรวมกันมีมูลค่าถึง 151,700 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 28% ของจีดีพีทั้งประเทศ

 

นอกจากนี้ รายงานความมั่งคั่งโลก Global Wealth Databook ของธนาคารเครดิตสวิสที่ตีพิมพ์รายปี ล่าสุดยังระบุว่า ช่องว่างทางรายได้ในสังคมไทยปี 2018 ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวยรายได้สูงสุดที่มีสัดส่วนเพียง 1% กลับเป็นผู้ครอบครองของมั่งคั่งของประเทศถึง 66.9%

 

แม้ว่าในปีที่แล้ว (2020) สัดส่วนตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ 40% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในประเทศอื่น ๆท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันในแง่ความร่ำรวย-ยากจนมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก จากทั้งหมด 40 ประเทศที่จัดอันดับโดยธนาคารเครดิตสวิส

 

ความแข็งแกร่งทางการเงินของเศรษฐีระดับท็อปของประเทศไทยเมื่อรวมเข้าด้วยกันทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีมหาเศรษฐีระดับพันล้าน(ดอลลาร์สหรัฐ)ขึ้นไป จำนวนมากถึง 52 คนในปีที่ผ่านมา (2020) ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 10 ของโลก (มีจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ครองอันดับ 1,2 และ3 ตามลำดับ โดยการจัดอันดับของ Hurun Global Rich List) ขณะที่จีดีพีรวมของประเทศอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก

 

นักวิเคราะห์การเมืองไทยอย่างคริส เบเกอร์ กล่าวว่า เศรษฐีไทยมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก “อาจจะเคยมีช่วงเวลาที่พวกเขาแข่งขันกันเอง แต่ปัจจุบัน พวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน”

สื่อนอกมอง “สารัชถ์” ยอดนักบริหาร ดันกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ เทียบชั้น Big5   

การสร้างอาณาจักรพลังงานของ"สารัชถ์"

 การก้าวขึ้นมาเป็นตัวจริงในแวดวงพลังงานของไทยสะท้อนระยะทางยาวไกลที่"สารัชถ์" เคี่ยวกรำมาบนเส้นทางนี้ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในยุคที่เศรษฐกิจของไทยยังมีการขยายตัวที่ระดับ 8.2% ต่อปี

 

นักธุรกิจหนุ่มอย่างสารัชถ์ที่ถือปริญญาด้านวิศวกรรมถึง 2 ใบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ค้นพบโอกาสทองที่เกิดขึ้นจากนโยบายใหม่ด้านพลังงานของรัฐบาลไทยในเวลานั้น นั่นคือการยกเลิกอำนาจผูกขาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดภาวะ “ตื่นทอง” ในแวดวงพลังงานดังเคยที่เคยมีผู้กล่าวไว้

 

การกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานทำให้สารัชถ์แตกต่างไปจากคนหนุ่มจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ที่มักจะถูกดึงดูดเข้าสู่แวดวงการเงินที่กำลังขยายตัวมากกว่า “นิคเคอิ” ยังมองว่าในประเทศที่นายพลทั้งหลายยังมีบทบาทและอำนาจสูง

 

การที่สารัชถ์มีสายสัมพันธ์กับคนในกองทัพก็ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมเขาได้มาก บิดาของสารัชถ์คือพลเอกถาวร รัตนาวะดี เป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ก่อรัฐประหารในปี 1991 ภรรยาของเขา นางนลินี รัตนาวะดี มาจากตระกูลคนรวยเชื้อสายไทย-จีนที่มีฐานอำนาจการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดตากซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-เมียนมา

 

ดังนั้นเมื่อสารัชถ์เรียนจบกลับมาจากอเมริกา เขาจึงมีทั้งเงินและคอนเนคชันที่แข็งแกร่ง

 

ในปี 1994 สารัชถ์มองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมพลังงานว่านี่คืออนาคตทางธุรกิจของเขา

 

สารัชถ์ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจพลังงานของตัวเองภายใต้ชื่อ กัลฟ์ (Gulf) โดยเริ่มจากธุรกิจแรก “กัลฟ์ อิเล็กทริก” (Gulf Electric) ที่ในปี 1994 ได้งานสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทางภาคใต้ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน ถือเป็นการสิ้นสุดการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจในการผลิตกระแสไฟฟ้า

 

แต่ปัญหาที่สารัชถ์ต้องพบกลับเป็นเรื่องการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่ออกมาประท้วงในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลทำให้โครงการของเขาชะงักงันไปพักหนึ่ง

 

10 ปีหลังจากนั้น เมื่อประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สารัชถ์ก็กลับมาเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินที่สร้างมลภาวะและถูกต่อต้านมากกว่า ส่วนที่ตั้งคือจังหวัดสระบุรี  โครงการนี้ได้รับความสนับสนุนจากพันธมิตรญี่ปุ่น คือ เจ-พาวเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่นที่ถือหุ้น 49% ในกัลฟ์ อิเล็กทริก      

สื่อนอกมอง “สารัชถ์” ยอดนักบริหาร ดันกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ เทียบชั้น Big5   

มากเงิน มากปัญหา

รูปแบบธุรกิจของสารัชถ์ คือการเข้าไปรับสัมปทานมาจากภาครัฐเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้เขาต้องพบกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปี 2013 เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัท Independent Power Development ในเครือของกัลฟ์ชนะประมูลได้เป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังกังหันก๊าซที่จังหวัดชลบุรีและระยอง มีกำลังผลิตรวมกัน 5,300 เมกะวัตต์

 

แต่โครงการนี้ตกเป็นประเด็นครหาเมื่อผู้บริหารของบริษัทคือ นายวิเศษ จูภิบาล อดีตรัฐมนตรีพลังงานในยุคของรัฐบาลทักษิณ และเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของปตท. จำกัด (มหาชน)

 

นิคเคอิระบุว่า ธุรกิจของกัลฟ์ถูกจ้องตรวจสอบหนักภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งตรวจสอบธุรกิจในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่อาจได้รับประโยชน์จากสายสัมพันธ์ที่มีกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร

 

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คู่แข่งของสารัชถ์เกลียดหน้าเขาก็เพราะสารัชถ์ชนะประมูลทำให้ได้สัมปทานไปทั้งหมด 100% พวกคู่แข่งเหล่านี้สนับสนุนให้ทหารก่อรัฐประหาร และเข้ามาตรวจสอบที่มาที่ไปของโครงการ โดยหวังว่าโครงการของกัลฟ์จะถูกระงับในยุคของรัฐบาลทหาร

 

ผลที่ตามมาคือมีการพิจารณาทบทวนโครงการ โดยรัฐมนตรีพลังงานสั่งให้มีการเปิดเจรจาใหม่อีกครั้ง และตัวสารัชถ์เองก็เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ถูกทหารเรียกไปคุย แม้การเจรจาใหม่จะทำให้โครงการยืดเยื้อออกไป แต่ในที่สุดอุปสรรคก็ผ่านพ้น โดยในเดือนธันวาคม 2016 พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งปลดล็อกโครงการให้กัลฟ์

 

ฟ้าหลังฝนส่งผลปูทางให้กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกได้ในปี 2017 ซึ่งในปีนั้น บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติที่เปิดทำการแล้ว 13 โรง และมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมมากกว่า 4,771 เมกะวัตต์

 

สารัชถ์กลายเป็นซีอีโอของบริษัทที่ทำราคาเข้าตลาดได้สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ 733 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลพวงของการวางแผนเตรียมการมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นข้ามคืน

 

สิ่งที่น่าทึ่งคือความสามารถของสารัชถ์ในการชนะใจรัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ เขาทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ แม้จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนตระกูลชินวัตร

 

นักวิเคราะห์ยอมรับว่า ธุรกิจของสารัชถ์ก้าวผ่านความยากลำบากหลังการรัฐประหารมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่ความใกล้ชิดของสารัชถ์กับคนตระกูลชินวัตรก็ยังคงมีอยู่  

 

หลังจากที่นำกัลฟ์เข้าตลาดหลักทรัพย์ สารัชถ์ก็บริหารจัดการกับประเด็นร้อนที่บริษัทหรือโครงการของเขาถูกกล่าวหาด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมาย มีการฟ้องร้องนักการเมือง

 

ในรายงานประจำปีของกัลฟ์ฯ ฉบับเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2563 บริษัทยังกล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ภายใต้หมวด “คดีความ”ว่า โครงการถูกตรวจสอบหนักหลังมีการรัฐประหารในปี 2014 มีความพยายามล้มดีลดังกล่าว มีความพยายามทำให้กระบวนการประมูลโครงการมีความล่าช้าออกไป แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินออกมาให้ผลเชิงบวกสำหรับบริษัท    

  

มิตรที่มีอำนาจช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่ง

ความยุ่งยากในทางกฎหมายและคดีความที่บริษัทอย่างกัลฟ์ประสบพบเจอดังกล่าวมา ไม่ได้ทำให้ภาพความคิดเดิมๆ ของผู้คนเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเปลี่ยนแปลงไปมากนัก นั่นก็คือความสำเร็จของธุรกิจรายใหญ่มักจะมาจากโครงการที่ได้สัมปทานจากภาครัฐ หรือมีรัฐเป็นลูกค้า มีรัฐเป็นแหล่งที่มาของรายได้ 

 

เช่น รายได้หลัก ๆของกัลฟ์เองส่วนใหญ่ก็มาจากสัมปทานระยะยาวที่ทำกับภาครัฐ มีรัฐเป็นลูกค้าที่รับประกันยอดขายในระยะ 25 ปีข้างหน้า  

 

นักวิจัยจาก Sal Forest เผยว่า หุ้นของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ถือเป็น 1 ใน 57  “หุ้นการเมือง” (political stocks) ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะหุ้นเหล่านี้แบ่งเป็น 3 หมวด

  • หนึ่ง คือหุ้นของรัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐบาลที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  • สอง คือหุ้นของบริษัทที่รายได้หลักมาจากสัมปทานที่ได้จากหน่วยงานภาครัฐ และ
  • สาม คือ หุ้นที่เจ้าของเป็นครอบครัวเดียวกับหรือมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองที่ทรงอิทธิพล ซึ่งนักวิจัยมองว่า กัลฟ์ฯ จัดอยู่ในหมวดที่สอง ขณะที่หลายคนอาจจะมองว่าบริษัทจัดอยู่ในหมวดที่สามได้เช่นกัน

 

กรณีของสารัชถ์นั้นไม่ใช่บุคคลที่สร้างความร่ำรวยจากศูนย์ หรือการไม่มีอะไรเลย เพราะเขาน่าจะเป็นคนรวยอยู่แล้วที่มีโอกาสสร้างความร่ำรวยมากขึ้นเป็น "รวยระเบิดระเบ้อ" มากกว่า การได้ขึ้นมาอยู่บนปลายยอดของสังคมไทย (ที่สูงสุดแต่เล็กสุด) ยิ่งทำให้เขาได้รับประโยชน์ในทันที

 

จากแบบจำลองทางเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับเหล่าตระกูลเศรษฐีที่ถูกชักจูงให้เข้าร่วมโครงการ “ประชารัฐรักสามัคคี” ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2016 โดยองค์กรธุรกิจรายใหญ่จะได้รับสิทธิประโยชน์จูงใจ ซึ่งรวมถึงการให้พักชำระภาษี หากเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีองค์กรธุรกิจระดับท็อปเข้ารวมราว 20 ราย

 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือกรณีที่พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเมื่อเดือนเมายนที่ผ่านมา ขอความสนับสนุนจากกลุ่มตระกูลธุรกิจใหญ่ที่สุด 20 รายให้ร่วมช่วยรัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติโควิด-19 และในรายชื่อที่สื่อไทยเผยแพร่นั้น ก็มีชื่อของสารัชถ์รวมอยู่ด้วยในอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกับธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งไทยเบฟ

 

ขอรวยเงียบๆ ไม่ออกสื่อ

 ในบรรดามหาเศรษฐีไทยนั้น สารัชถ์ไม่ค่อยปรากฏตัวออกสื่อมากนัก สิ่งที่ผู้คนมักจะกล่าวขวัญถึงเขาคือ สารัชถ์มักจะเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว (เครื่อบินกัลฟ์สตรีม ราคาราว 70 ล้านดอลลาร์) เป็นนักกอล์ฟฝีมือฉกาจที่ชื่นชอบการดื่มไวน์

 

เป็นที่รู้กันดีในแวดวงคนสนิทและมิตรสหาย ว่าสารัชถ์ชื่นชอบใช้ชีวิตเงียบๆ และรักษาความเป็นส่วนตัว แม้แต่การหาภาพถ่ายของเขาตามสื่อต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ และที่เห็น ๆกันเป็นประจำก็คือ ภาพของเขาที่เผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัท

 

สารัชถ์แทบจะไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อ และเรื่องนี้คนวงในที่ใกล้ชิดเขาก็ยอมรับว่า สารัชถ์ต้องการความเป็นส่วนตัวอย่างมาก ตัวแทนของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ปฏิเสธที่จะให้สารัชถ์หรือแม้กระทั่งผู้บริหารคนอื่น ๆ ให้สัมภาษณ์กับนิคเคอิสำหรับรายงานชิ้นนี้ 

 

เมื่อเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้เรื่องเกี่ยวกับความร่ำรวยของเขาและบริษัทของเขา รวมถึงแผนการและทิศทางของบริษัท ตลอดจนเส้นทางความสำเร็จ  ล้วนมีบรรยากาศของความลึก ๆ ลับๆ เรื่องราวที่เป็นปริศนาทำให้คนกระหายใคร่รู้ แต่ก็หาคำตอบได้ยาก    

 

นักการทูตประเทศตะวันตกที่ไม่ประสงค์ออกนามให้ความเห็นกับนิคเคอิว่า กัลฟ์เป็นบริษัทที่น่าจับตามอง เช่นเดียวกับที่เขาให้ความสนใจ กลุ่มบริษัท Big5 (บิ๊กไฟฟ์) ของไทย ที่หมายถึง 5 บริษัทยักษ์ใหญ่เชื้อสายไทย-จีน อันประกอบด้วย ซีพี กรุ๊ป (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ไทยเบฟ คิงเพาเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป เซ็นทรัลกรุ๊ป และบุญรอดบริวเวอรี่(ผู้ผลิตเบียร์สิงห์)

 

“เช่นเดียวกับที่เราให้ความสนใจกลุ่มบิ๊กไฟฟ์ เราเริ่มเทความสนใจให้กับกัลฟ์ในฐานะอีกหนึ่งผู้ทรงอิทธิพล” แหล่งข่าวในแวดวงการทูตกล่าว

 

สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของนักการทูตอีกรายที่มองว่า ไทยเป็นประเทศที่ตระกูลใหญ่มักจะเป็นผู้ทรงอิทธิพล และยังคงมีบทบาทสูงในทางการเมือง การกำหนดนโยบาย และการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง

 

ขณะที่ตระกูลใหญ่อื่น ๆ ยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมักจะร่วมงานกิจกรรมของสถานทูตต่างชาติในประเทศไทย แต่ดูเหมือนสารัชถ์จะเป็นข้อยกเว้น เพราะเขายังคงรักษาความเป็นส่วนตัว ทำตัวเงียบๆ และอยู่นอกเรดาร์ของสื่อมวลชนได้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ยังคงสามารถขยายธุรกิจและต่อยอดความมั่งคั่งได้ขึ้นเรื่อย ๆ    

 

ข้อมูลอ้างอิง

Thailand's billionaire boom: the rise of Sarath Ratanavadi