โอกาสที่เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) จะมาแทนที่เงินหยวนแบบดั้งเดิม

12 ต.ค. 2564 | 01:19 น.

โอกาสที่เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) จะมาแทนที่เงินหยวนแบบดั้งเดิม : ประเด็นที่ผู้ประกอบการ-ผู้ส่งออกไทยต้องติดตาม

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

- - - - - - - - - - -

เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) ซึ่งมีชื่อทางการ ว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) คือ เงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) สามารถชำระหนี้ได้เสมือนเงินสด เพียงแต่เปลี่ยนจากการใช้เงินที่เป็นเหรียญหรือธนบัตร (Fiat Money) มาเป็นเงินในรูปแบบดิจิทัล (Digital Money) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนใช้จ่ายและหมุนเวียนเงินอยู่ในระบบเศรษฐกิจควบคู่กับเงินหยวนในรูปแบบดั้งเดิม โดย E-CNY เป็นสกุลเงินดิจิทัลเดียวที่ถูกกฎหมายในประเทศจีน และจีนเป็นประเทศแรกที่ใช้เงินสกุลดิจิทัลในระบบการเงินจริง

 

สถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลของจีน เปิดเผยว่าเงินหยวนดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนการใช้เงินหยวนแบบกระดาษ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้การใช้เงินหยวนดิจิทัลในการใช้จ่ายเป็นจริงเร็วขึ้น เนื่องจากผู้คนระมัดระวังการสัมผัสเงินสด จากเดิมที่คนจีนนิยมใช้บัตรเครดิตหรือสแกนจ่ายเงินออนไลน์เป็นปกติอยู่แล้ว การจ่ายเงินด้วยเงินหยวนดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ยิ่งทำให้สะดวกมากขึ้นไปอีก

โอกาสที่เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) จะมาแทนที่เงินหยวนแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเกิดสกุลเงิน Cryptocurrency มากมายที่นำ เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ เช่น Bitcoin แต่สิ่งที่ทำให้เงินดิจิทัลหยวนแตกต่างจากเงินดิจิทัลเหล่านั้นคือมูลค่าที่เสถียรและดูแลโดยรัฐบาล จึงไม่ต้องกลัวว่ามูลค่าเงินจะผันผวนตามกระแสดังเช่น Bitcoin และ สกุลเงิน Cryptocurrency อื่น ๆ ซึ่งธนาคารกลางมองว่าเป็นเรื่องยากในการกำกับดูแลและออกกฎระเบียบ และอาจมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินในอนาคตด้วย

 

เงินหยวนดิจิทัลยังสามารถใช้งานได้ทั้งแบบ online และ offline ทั้งจาก Mobile application และบัตรเงินสด โดยแตกต่างจาก WeChat และ Alipay ที่เป็นเพียง e-wallet เท่านั้น และใช้แบบ online ได้อย่างเดียว โดย เงินหยวนดิจิทัลยังเก็บอยู่ในกระเป๋าตังค์ WeChat หรือ Alipay ได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

การโอนเงิน e-Money ที่อยู่ใน e-wallet ของ WeChat หรือ Alipay กลับเข้าบัญชีธนาคารจะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่การโอนเงินหยวนดิจิทัลกลับเข้าบัญชีธนาคารจะไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ และจุดเด่นอีกประการหนึ่งของ เงินหยวนดิจิทัล คือ สามารถใช้จ่าย offline ได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต ด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระยะสั้นที่เรียกว่า NFC (Near Field Communication) ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้ง่าย ๆ เพียงแค่นำมือถือมาแตะกัน

โอกาสที่เงินหยวนดิจิทัล (E-CNY) จะมาแทนที่เงินหยวนแบบดั้งเดิม

ธนาคารกลางจีนเริ่มจัดตั้งโครงการเงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 และพัฒนามาจนปี 2560 จึงได้มีการทดลองในรูปแบบ Retail ซึ่งทดลองเฟสแรกตั้งแต่ปี 2562 เช่น ในเมืองซูโจวมีการทดลองการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงบางส่วนให้ข้าราชการเป็น เงินหยวนดิจิทัล ซึ่งข้าราชการสามารถใช้จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านฟาสต์ฟู้ดได้ และเฟสล่าสุดคือที่ นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และเฉิงตู ได้ทดลองใช้ในประชาชนทั่วไป โดยสามารถใช้จ่าย เงินหยวนดิจิทัล ผ่าน e-commerce แพลตฟอร์ม เช่น JD.com และสามารถถอนเป็นเงินสดจากตู้ ATM ได้ด้วย

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 สำนักข่าว Global Times รายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีน ในนครเซี่ยงไฮ้ 6 แห่ง เปิดให้ประชาชนสมัครใช้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้ว ได้แก่ ธนาคารแห่งจีน ธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจีน ธนาคารเพื่อการเกษตรจีน ธนาคารเพื่อการโทรคมนาคมจีน และธนาคารเพื่อการออมทรัพย์ทางไปรษณีย์จีน โดยเซี่ยงไฮ้ในฐานะศูนย์กลางการเงินของจีน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันการทดลองใช้เงินหยวนอย่างเสรี พร้อมผลักดันให้ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนทดลองการซื้อขายสกุลเงินหยวนล่วงหน้า (RMB Currency Futures) เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินหยวนในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของทั่วโลก โดยได้สร้างศูนย์เทคโนโลยีการเงินที่มีความสามารถแข่งขันในระดับสากล และศูนย์บริหารทรัพย์สินที่มีอิทธิพลระดับโลก รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมด้านการเงินที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้อีกด้วย

 

ถึงแม้ปัจจุบัน เงินหยวนดิจิทัลจะอยู่ในขั้นการทดสอบ แต่หากสามารถเอาชนะความท้าทายทางเทคโนโลยีและพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ มีความปลอดภัย และเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงิน รวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการและธุรกรรมทางการเงินได้

 

เงินหยวนดิจิทัลจะเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของจีนในการเป็นผู้นำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งอาจสร้างแรงกระเพื่อม และขยายอิทธิพลของเงินหยวนสู่ระบบการเงินของโลกสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนในการผลักดันเงินหยวนสู่สากล (RMB Internationalization) โดยการเพิ่มอุปสงค์เงินหยวนเพื่อให้เกิดการใช้เงินหยวนในวงกว้างและก้าวขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก

 

การผลักดันเงินหยวนดิจิทัลจึงมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการใช้เงินหยวนมากขึ้น โดยเงินหยวนดิจิทัลจะครอบคลุมการชำระเงินธุรกรรมต่าง ๆ ภายในจีน รวมถึงการทำธุรกิจของจีนกับนักลงทุนต่างชาติ และในอนาคตอาจมีบทบาทมากขึ้นในระดับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตามแนวเส้นทางสายไหม ซึ่งอาเซียนจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในเชิงภูมิศาสตร์อันดับต้น ๆ การผลักดันเงินหยวนดิจิทัลนี้จึงนับเป็นนวัตกรรมการเงินครั้งสำคัญของจีนที่ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มศึกษาและติดตามพัฒนาการเพื่อปรับตัวรองรับโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนวัตกรรมเงินหยวนดิจิทัลอาจช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมการเงิน หรืออาจถูกกำหนดให้เป็นเงินสกุลหลักในการชำระเงินข้ามพรมแดน อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สู่ยุคเงินดิจิทัลอย่างแท้จริงในการทำการค้าระหว่างประเทศ

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวสถานการณ์การค้า การลงทุน และโอกาสของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ ที่ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศ นำข้อมูลเชิงลึกจากพื้นที่เป้าหมาย มานำเสนอ ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com และหากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ติดต่อศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ ได้ที่ [email protected]