“โนวาแวกซ์” (Novavax) วัคซีนโควิดตัวใหม่ ประสิทธิภาพสูงจากสหรัฐ อีกความหวังสู้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์

15 มิ.ย. 2564 | 04:56 น.

วัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 สัญชาติอเมริกันแบบ 2 โดสที่กำลังน่าจับตาหลังเปิดรายงานการทดสอบขั้นที่ 3 กับอาสาสมัครเกือบ 30,000 คนทั้งในสหรัฐฯและเม็กซิโกเมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย.) พบว่าประสิทธิภาพสูงถึง 90.4%

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานวานนี้ (14 มิ.ย) ว่า บริษัทโนวาแวกซ์ (Novavax) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐได้เปิดเผยผลการทดสอบทางคลินิกกับอาสาสมัครทั้งในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกจำนวน 29,960 คนพบ ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ระดับ 90.4% ซึ่งพอ ๆกับวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาและไฟเซอร์-บิออนเทค และสูงกว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J)

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพจะเพิ่มเป็น 100% ในการป้องกันผู้ป่วยโควิดในเคสป่วยปานกลางถึงป่วยหนัก

ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีนของโนวาแวกซ์ซึ่งใช้โปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อของไวรัสโควิดชนิดกลายพันธุ์ได้มากกว่า 93% ซึ่งไวรัสกลายพันธุ์หลายชนิดได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

“โนวาแวกซ์” (Novavax) วัคซีนโควิดตัวใหม่ ประสิทธิภาพสูงจากสหรัฐ อีกความหวังสู้ไวรัสโควิดกลายพันธุ์

ดร.เกรกอรี เกลนน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของโนวาแวกซ์เปิดเผยว่า วัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สูงถึง 91% เมื่อทดลองใช้กับอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อรุนแรง และมีประสิทธิภาพถึง 100% ในการป้องกันการเกิดอาการปานกลางและรุนแรง นอกจากนี้ วัคซีนยังมีประสิทธิภาพ 70% ในการป้องกันไวรัสชนิดกลายพันธุ์ซึ่งทางโนวาแวกซ์ยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้

"ในทางปฏิบัตินั้น วัคซีนของเรามีความสามารถอย่างมากในการป้องกันไวรัสชนิดกลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้" ดร.เกลนน์กล่าว

โนวาแวกซ์ยังระบุด้วยว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากวัคซีนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ฉีดวัคซีนสามารถอดทนได้ โดยผลข้างเคียงดังกล่าวรวมถึงอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้เล็กน้อย ขณะที่มีอาสาสมัครเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มีผลข้างเคียงขั้นรุนแรง

ข่าวระบุว่า เนื่องจากในสหรัฐมีวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ FDA ของสหรัฐแล้วถึง 3 ตัว (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และจอห์นสันฯ) ดังนั้น โนวาแวกซ์อาจประวิงเวลายื่นขอการอนุมัติใช้ในสหรัฐไปจนสิ้นเดือนกันยายน หรือ FDA อาจขอให้บริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียนการใช้เต็มรูปแบบหรือ full license แทนไม่ใช่แบบกรณีฉุกเฉิน แต่หากเป็นเช่นนั้นกระบวนการพิจารณาอนุมัติต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ทางโนวาแวกซ์ เห็นความจำเป็นและความต้องการใช้วัคซีนในตลาดต่างประเทศ จึงได้ยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนในต่างประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป (อียู) อินเดีย และเกาหลีใต้ นายสแตนลีย์ เอิร์ค (Stanley Erck) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนวาแวกซ์ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนต้านโควิดของบริษัทอาจจะได้รับการอนุมัติใช้ในต่างแดนก่อนในสหรัฐอเมริกา

โนวาแวกซ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า โนวาแวกซ์เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้ริเริ่มโครงการที่ชื่อ “ปฎิบัติการวาร์ป สปีด” (Operation Warp Speed) ในปีที่ผ่านมา (2563) ด้วยข้อตกลงให้เงินสนับสนุนบริษัท 1,600 ล้านดอลลาร์สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส ทางบริษัทได้รับอานิสงค์ครั้งใหญ่นี้ แม้ว่าจะไม่ผลิตวัคซีนออกสู่ตลาดมานานร่วม 30 ปี

สำหรับตลาดสหรัฐ ซึ่งมีปริมาณวัคซีนต้านโควิดจากผู้ผลิตรายอื่น ๆเพียงพอใช้อยู่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีความเป็นไปได้ที่วัคซีนของโนวาแวกซ์จะเข้ามาเป็น “บูสเตอร์” (booster) หรือวัคซีนเข็มที่สาม ที่ใช้ฉีดหลังมีการฉีดครบโดสแล้ว เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพหรือช่วยเพิ่มสมรรถนะของวัคซีนที่ฉีดไปก่อนหน้านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง พญ. ลูเซียนา โบริโอ อดีตรักษาการหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ FDA (ระหว่างปี 2558-2560) มองว่า บูสเตอร์ หรือ วัคซีนเข็มที่สาม ยังมีความจำเป็นในสหรัฐเนื่องจากภูมิต้านทานหมู่ (herd immunity) ยังมีน้อย และที่สำคัญคือคือมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธ์ใหม่ ๆออกมา เชื่อว่าเทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากโปรตีนของไวรัส (protein-based technology) ซึ่งใช้ในการผลิตวัคซีนโนวาแวกซ์จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มขึ้นในแง่การป้องกันแม้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปก่อนหน้านั้นจะเป็นของยี่ห้ออื่นก็ตาม

ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา การทดสอบวัคซีนของโนวาแวกซ์ในอาสามัครจำนวน 15,000 คนที่ประเทศอังกฤษพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโนวาแวกซ์อยู่ที่ 96% ในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ลดลงเหลือ 86% สำหรับไวรัสโควิดสายพันธุ์อัลฟา (เดิมเรียกสายพันธุ์อังกฤษ) และในการทดลองที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งตรวจพบไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกา พบว่า การทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 2,900 คน ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49% สำหรับสายพันธุ์เบตา (เดิมเรียกสายพันธุ์แอฟริกา) แต่ผลทดสอบดังกล่าวนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ค่าประสิทธิภาพที่ลดต่ำลงมาอาจเป็นเพราะอาสาสมัครในแอฟริกาใต้ส่วนหนึ่งมีการติดเชื้อ HIV ด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นไวรัสที่ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง

ในแง่ปริมาณการผลิต โนวาแวกซ์จับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ อาทิ สถาบันเซรุมวิทยาอินเดีย และบริษัทเอสเค ไซเอนเซส (SK Biosciences) ของเกาหลีใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจในแง่กำลังการผลิต นอกจากนี้ บริษัทยังทำสัญญากับองค์กร GAVI ซึ่งเป็นพันธมิตรกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดหาวัคซีนโควิดให้กับประเทศรายได้ปานกลางถึงยากจนผ่านทางโครงการ COVAX โดยโนวาแวกซ์ตกลงจะผลิตวัคซีนโควิด 1.1 พันล้านโดสป้อนให้กับโครงการ

นิวยอร์กไทม์สรายงานอ้างอิงคำสัมภาษณ์ของซีอีโอโนวาแวกซ์ว่า บริษัทวางแผนจะผลิตวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นไตรมาสที่ 4

ข้อมูลอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง