ลุ้นนายกฯใหม่ญี่ปุ่นแทน “อาเบะ” หนุนย้ายฐานจากจีนมาไทยเพิ่ม

04 ก.ย. 2563 | 11:28 น.

ชินโซะ อาเบะ นายกฯงญี่ปุ่นลาออก ไม่ส่งผลกระทบไทย ขณะนายกฯคนใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่เร่งแก้ปัญหาโควิด สานต่อกระจายฐานผลิตญี่ปุ่นออกจากจีน ลุ้นไทยได้อานิสงส์เพิ่ม

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายงานอ้างอิงข้อมูลสื่อญี่ปุ่นว่า จากที่นายชินโซะ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 สิงหาม 2563 เนื่องจากโรคประจำตัว คือ โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) กำเริบอีกครั้ง โดยนายชินโซะฯ และคณะรัฐมนตรีจะรักษาการไปจนกว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วเสร็จ

 

โดยสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. กำหนดการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบามีกำหนดเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อเสนอที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายชินโซะฯ ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถดำเนินนโยบายเร่งด่วนได้โดยเร็ว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ ด้วย (การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญระหว่างวันที่ 15-30 กันยายน 2563) ทั้งนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ถึงเดือนกันยายน 2564 ก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่ตามกำหนดการในข้อบังคับพรรคดังกล่าว

 

2.แนวโน้มนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปัจจุบันยังไม่ปรากฏตัวเก็งผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ถึงนักการเมืองสำคัญที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เช่น นายโยชิฮิเดะ สุกะ (หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะสานต่อนโยบายของนายชินโซะฯ) นายชิเกรุ อิชิบะ (อดีตรัฐมนตรีด้านฟื้นฟูภูมิภาค) และนายฟุมิโอะ คิชิดะ (อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศ) เป็นต้น

 

ลุ้นนายกฯใหม่ญี่ปุ่นแทน “อาเบะ” หนุนย้ายฐานจากจีนมาไทยเพิ่ม

                                ชินโซะ  อาเบะ

 

3. ผลงานที่สำคัญของนายชินโซะฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

3.1 นโยบาย Abenomics ((1)มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (2)มาตรการเชิงรุกทางการคลัง และ (3) ยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจ) ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า (เปรียบเทียบกับช่วงเข้ารับตำแหน่ง) และหากไม่รวมผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 540 ล้านล้านเยน

 

3.2 การผลักดันนโยบายการค้าเสรีเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการส่งออก โดยได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ เช่น CPTPP Japan-EU EPA และข้อตกลงทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นต้น

 

3.3 การส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผ่อนคลายมาตรการตรวจลงตราวีซ่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากต่างชาติ การสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของญี่ปุ่น และการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ  เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นจำนวนมากยอมรับผลงานทางเศรษฐกิจของนายชินโซะฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภาพรวมขยายตัว โดยที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรทางธุรกิจเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องเชิงนโยบายจากภาคธุรกิจควบคู่กับการให้ความร่วมมือดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ แต่ก็มีหลายฝ่ายที่เห็นว่านโยบายต่าง ๆ ของนายชินโซะฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศไว้

 

สคต. ณ กรุงโตเกียว มีบทวิเคราะห์ถึงการลาออกของนายชินโซะฯต่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า ในระยะสั้น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าต่อประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะเน้นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจถดถอยจากโรคระบาดดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นอาจจะผลักดันเรื่องการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่มนักธุรกิจและการกระจายฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศจีนต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และสร้างโอกาสขยายการส่งออกสินค้าในฐานะฐานการผลิต/ห่วงโซ่อุปทานทดแทนระหว่างประเทศของไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ชินโซ อาเบะ" นายกฯญี่ปุ่นประกาศ“ลาออก”

นักลงทุนจับตาทิศทางการเมืองญี่ปุ่นหลัง "อาเบะ" ลาออก

ป่วยแต่ยังทำงาน “อาเบะ” ต่อสายตรงทรัมป์

ญี่ปุ่นจะได้นายกฯ คนใหม่กลางเดือนก.ย.