42 ปี “เด็กหลอดแก้ว” นวัตกรรมการแพทย์สะท้านโลก

25 ก.ค. 2563 | 02:21 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ 25 ก.ค. 2521 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์โลกได้จารึกไว้ว่า ทารกน้อยเพศหญิง "หลุยส์ บราวน์" เป็น “เด็กหลอดแก้ว” คนแรกของโลก เธอถือกำเนิดที่โรงพยาบาล Royal Oldham Hospital ในเมืองชนบทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือของเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถือว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

หนังสือพิมพ์เดลี่เมล์ของอังกฤษตีพิมพ์ข่าวหน้าหนึ่งต้อนรับการถือกำเนิดของเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกในปี 2521 (เครดิตภาพเว็บไซต์ www.independent.co.uk)

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เรียกว่า “เด็กหลอดแก้ว” หรือเทคนิคการปฏิสนธิสังเคราะห์ In vitro fertilization (IVF) เมื่อ 42 ปีก่อนที่ประเทศอังกฤษนั้น นำความสุขและรอยยิ้มมาสู่ครอบครัวของคู่สมรสที่มีบุตรยากจำนวนนับล้าน ๆคู่ทั่วโลก หลายคู่ที่หมดหวังกับการมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งรวมถึงคู่สมรสเพศเดียวกัน กลับมามีความหวังที่จะมีทายาทที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพวกเขาเองอีกครั้ง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ “หลุยส์ บราวน์” เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก ได้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกไว้ในหนังสือ ‘Louise Brown: 40 Years of IVF’ เพื่อฉลองครบรอบกำเนิด 40 ปีของวิทยาการเด็กหลอดแก้วเมื่อปี 2561 ว่า

 

“เมื่อตอนที่ฉันเกิดนั้น คุณแพทริค สเต็ปโท และโรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ บุคคลที่เป็นต้นกำเนิดเทคนิควิธีการนี้ ได้แนะนำว่า ฉันควรมีชื่อกลาง (middle name) ว่า จอย (Joy) เพราะการถือกำเนิดขึ้นมาของฉันจะนำพาความสุขใจมายังผู้คนอื่น ๆ อีกมากมายหลายคน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจาะลึก "เมดิคัล ทัวริซึม" แต้มต่อปั๊มรายได้เที่ยวไทย

เอกชัยโกอินเตอร์บุกจีน ชูเด็กหลอดแก้ว-ศูนย์แม่และเด็ก ดันรายได้โตโดดเด่น

ลูกค้าจีนแห่ใช้ศูนย์เด็กหลอดแก้ว

ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะนับตั้งแต่ที่ “หลุยส์ บราวน์” เด็กหลอดแก้วคนแรกลืมตาดูโลกในปี 2521 อีก 40 ปีถัดมาหลังจากนั้น โลกก็มีเด็กทารกที่ถือกำเนิดจากกระบวนการ IVF จำนวนเพิ่มขึ้นอีกราว 8,000,000 คนในประเทศต่าง ๆทั่วโลก ( ข้อมูล ณ ปี 2561)

หลุยส์ บราวน์ ในวัย 40 ปี (ภาพถ่ายเมื่อปี 2561)

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2512 นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 คน ผู้ซึ่งสร้างตำนานเรื่องนี้ คือ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards) และ แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ พวกเขาได้ค้นพบและอธิบายถึงปรากฏการณ์ของการปฏิสนธิระยะแรกของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่ และอสุจิ) ของมนุษย์

 

การทดลองในระยะต้น ๆ นั้นเป็นการทดลองการปฏิสนธิในหลอดแก้วของเซลล์สืบพันธุ์ของหนู ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จ ก็ขยับสู่เซลล์สืบพันธุ์ของคน โดยอาศัย "ไข่" ที่เกิดจากการกระตุ้น ทั้งคู่ยังได้พัฒนา "น้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อน" อีกด้วย แต่เส้นทางการทดลองก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายปีต่อมา พวกเขาสามารถทำให้คนไข้ตั้งครรภ์จากกระบวนการ IVF ได้ แต่โชคร้าย คนไข้คนแรกตั้งครรภ์นอกมดลูก และคนไข้คนที่สองตั้งครรภ์เฉพาะจากการทดสอบผลเลือดเท่านั้น เพราะในเวลาต่อมา ค่าของผลเลือดบวกกลับลดลงและเป็นศูนย์ในที่สุด

 

จนกระทั่งพ.ศ. 2520 ทั้งคู่ก็ได้พบกับ "เลสลี่ บราวน์" (แม่ของหลุยส์ บราวน์ เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก) เธอมีปัญหาเกี่ยวกับ "ท่อนำไข่" ทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ เธอและสามีเข้ารับการแนะนำและชักจูงใจให้ทำ "เด็กหลอดแก้ว" พวกเขาตัดสินใจที่จะลองดูสักครั้ง

 

วันที่ 10 พ.ย. 2520 แพทย์ได้ทำเจาะ "ไข่" ใบที่สมบูรณ์หนึ่งใบออกมาจากรังไข่ของนางบราวน์ แล้วหยอด "ตัวอ่อน" กระทั่งต่อมาพวกเขาพบว่า ตัวอ่อนมีการแบ่งตัวได้ 8 เซลล์อย่างสวยงาม จนกระทั่งเติบโตอยู่ในครรภ์ของ "เลสลี่ บราวน์" พูดง่ายๆ คือ เธอสามารถตั้งครรภ์ได้เป็นผลสำเร็จ  และต่อมาในวันที่ 25 ก.ค.2521 เธอก็ให้กำเนิดบุตรสาว "หลุยส์ บราวน์" ที่โลกจารึกไว้ว่าเป็น “เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก” เด็กน้อยแข็งแรงดี และมีพัฒนาการเหมือนกับเด็กธรรมดาทั่ว ๆไป

4 ปีหลังจากนั้น พ่อแม่ของเธอก็ได้ให้กำเนิด “นาตาลี” น้องสาวของเธอมาอีกคน ซึ่งก็กำเนิดด้วยวิธี "เด็กหลอดแก้ว" เช่นเดียวกัน เด็กน้อยทั้งสองเติบโตและดำเนินชีวิตเป็นปรกติ เรื่องราวของสองพี่น้องทำให้ทั่วโลกเข้าใจถึงความอัศจรรย์ของการทำเด็กหลอดแก้วว่าสามารถทำได้ นั่นหมายถึง การนำอสุจิของพ่อและไข่ของแม่มาทำการปฏิสนธิในหลอดทดลอง จากนั้นจึงค่อยนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกเพื่อให้เติบโตตามธรรมชาติต่อไป

 

แม้หลายฝ่ายรวมทั้งศาสนจักรบางแห่งในยุคเวลานั้นจะประท้วงการทดลองเด็กหลอดแก้ว โดยประณามว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังทำตัวเป็นซาตาน ที่อาจหาญทำตัวเทียบเคียงกับพระเจ้า ในการให้กำเนิดมนุษย์ แต่กระนั้น เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัย และนำความหวังมาให้พ่อแม่ที่มีปัญหามีบุตรยาก การผสมเทียมในหลอดแก้วกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคู่สมรสทั่วโลกที่ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ

 

ปัจจุบัน หลุยส์ บราวน์ ทำงานที่ที่ทำการไปรษณีย์แห่งเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เธอแต่งงานในปี 2547 และให้กำเนิดบุตรชายคนแรกในอีกสองปีต่อมา “สำหรับชายและหญิงที่กำลังจะมีบุตรด้วยวิธี IVF ฉันอยากจะบอกว่า อย่าได้ละทิ้งความหวัง และสำหรับคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์การเจริญพันธุ์ ฉันอยากจะบอกว่า กรุณาทำงานที่ยอดเยี่ยมนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายสำหรับทุก ๆคนที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้การทำ IVF พัฒนามาถึงขั้นนี้ในทุกวันนี้ ฉันในฐานะตัวแทนเด็กหลอดแก้วนับล้าน ๆคน อยากจะขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกคุณได้ทำมา”  

 

ส่วนในประเทศไทย เด็กหลอดแก้วรายแรกเกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากการถือกำเนิดของหลุยส์ บราวน์ 9 ปี โดยฝีมือของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/ivf-baby-louise-brown-story-test-tube-world-first-40th-anniversary-a8455956.html

https://www.bumrungrad.com/th/treatments/in-vitro-fertilization-ivf

https://en.wikipedia.org/wiki/Louise_Brown